ผอ.รมน.ภาค 4 พบสื่อมวลชนชายแดนใต้ ชู นโยบายขจัดภัยยาเสพติด เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ผอ.รมน.ภาค 4 พบสื่อมวลชนชายแดนใต้ ชู นโยบายขจัดภัยยาเสพติด เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

 

วันนี้ ( 8 พฤศจิกายน 2561 ) เวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ ให้แก่ประชาชน เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้           โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ สื่อภาครัฐ และสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

 

ในโอกาสนี้ พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กล่าวถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จะใช้กรอบ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เป็นทุกข์ของประชาชนเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการควบคุมพื้นที่ ให้ปลอดภัย เอื้อต่อการ พูดคุยสันติสุข ซึ่งกำลังมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี ในส่วนของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้กำหนดเป็นงานเร่งด่วนในห้วง 3 เดือนแรก โดยใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการร่วม หรือ ศปร.ทั้ง 37 อำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นหน่วยหลักในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

สำหรับการควบคุมพื้นที่ให้มีความปลอดภัยนั้น ได้เน้นย้ำให้กำลังพลปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ โดยในส่วนของยุทธวิธีได้เน้นให้กำลังพล ออกไปปฏิบัติการลาดตระเวนและนอนนอกฐาน เพื่อดูแลพื้นที่ให้ได้อย่างทั่วถึงและนำกำลังประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติงาน ดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ หมู่บ้าน-ชุมชน ของตนเอง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่อีกด้วย

 

นอกจากนี้ แม่ทัพภาคที่4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ยังได้ฝากให้สื่อมวลชน ช่วยประชาสัมพันธ์ ตู้ ปณ.41 ปณจ.ยะลา 95000  ที่เปิดให้ประชาชน ใช้เป็นช่องทางในการ ร้องทุกข์ ร้องเรียนและแจ้งเบาะแส โดยไม่ต้องลงชื่อ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาต่างๆอย่างสันติวิธี ตลอดจนต้องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป