พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพบปะเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนมากที่สุดในสถานการณ์ น้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันยังมีน้ำอยู่ในเขื่อนใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก แต่พบว่ามีอยู่ประมาณ 7 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็น ในภาคเหนือมี 2เขื่อนคือ เขื่อนแม่กวง กับเขื่อนแม่มอก ภาคอีสาน 3 เขื่อนคือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และ เขื่อนลำนางรอง ส่วนภาคกลางคือ เขื่อนกระเสียว และ เขื่อนทับเสลา จ.สุพรรณบุรี ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนน่าเป็นห่วงมากเพราะมีปริมาณน้ำคงเหลือ 35% ซึ่งแตกต่างจากปี 2558
ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ตามคำสั่ง ท่านนายกรัฐมนตรี ว่าต้องมาบูรณาการ การจัดการแก้ปัญหา การวางแผนการใช้น้ำอย่างละเอียดรอบคอบ โยในครั้งนี้ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาครบ ทุกหน่วยงาน อาทิสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) /กรมชลประทาน/กรมฝนหลวง/กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงมหาดไทย/กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น และวางแผนบูรณาการร่วมกัน ประการแรกคือ การจัดสรรแบบเร่งด่วน เป็นน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค ให้ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ประการที่ 2 การจัดสรรน้ำเพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศ ประการที่ 3 ดูแลภาคการเกษตร โดยคณะกรรมการ JMC เพื่อให้มีน้ำสำหรับนาข้าวและอ้อยที่ปลูกไว้ก่อนแล้ว และประการสุดท้ายคือ การสำรองน้ำไว้ใช้ให้ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2562
ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการ JMC ต้องร่วมกันชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน หากจะทำการเกษตรใหม่ หลังจากนี้ต่อไป ต้องมาคุยกับคณะกรรมการจัดการน้ำ ซึ่งหากทำไปแล้วไม่มีน้ำเพียงพอ จะสร้างความเสียหายแก่พี่น้องประชาชนได้ ส่วนชลประทาน เกษตรจังหวัด ต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุเช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย วันนี้ การบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนกระเสียว ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก และจะนำโมเดลนี้ไปใช้กับอีก 6 เขื่อน เพื่อให้ลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด