วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีถือเป็นวันสงกรานต์ของไทย และมีการสืบสานประเพณี 13-15 เมษายน แต่สำหรับพี่น้องชาวลาวครั่งยังคงมีการสืบสานประเพณีกันถึงวันที่ 20 เมษายน แต่ละพื้นที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป แต่สิ่งที่ได้สืบสานเหมือนๆ คล้ายๆ กันได้แก่ ประเพณียกธงสงกรานต์ถือเป็นวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์พี่น้องชาวลาวครั่ง จะมีการสืบสานแทบทุกพื้นที่ สำหรับประเพณีและการละเล่นต่างๆ จะมีปรากฏบางกลุ่มพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ ประเพณีแห่ดอกไม้, การละเล่นผีนางด้งและผีต่างๆ, การอัญเชิญพระเจ้าลง พระเจ้าขึ้น, ประเพณีล้างกระดูก (การทำบุญอัฐิรวมญาติ), ทำบุญฉลองธง
พระครูใบฏีกาอาทิตย์ อินฺทมุนี เจ้าคณะตำบลบ่อกรุ เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม กล่าวว่า วัดหนองกระทุ่ม ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ได้จัดสืบสานประเพณี “อัญเชิญพระเจ้าลง” เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 และในวันที่ 20 เมษายน 2568 เป็นวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ ทางวัดได้จัดให้มีการสืบสานประเพณีที่เรียกว่า “อัญเชิญพระเจ้าขึ้น” จะมีอยู่น้อยชุมชนที่ได้สืบสานประเพณีนี้
หลังจากมีการยกธงสงกรานต์แล้ว มีการทำบุญฉลองธงก็ถือเป็นการสำเร็จเสร็จสิ้นประเพณี แต่ที่วัดหนองกระทุ่ม จะทำบุญทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 13-20 เมษายน สำหรับปีนี้ต่ออีก 1 วันซึ่งตรงกับวันพระ จึงให้มีการเชิญ “พระเจ้าขึ้น” ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตสักกี่ปีประเพณีนี้จะได้อยู่คู่กับพี่น้องชาวลาวครั่งรุ่นหลังหรือไม่
นายวิฑูรย์ ทวีสุข ครูโรงเรียนอนุบาลยอดไม้งาม ให้ข้อมูลว่า คำว่า “พระเจ้า” มาจากคำว่า “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” หรือ “พระพุทธเจ้า” พี่น้องชาวลาวจะเรียกสั้นๆ ว่า “พระเจ้า” ถือเป็นสิ่งเคารพสักการะที่แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การดำรงวิถีชีวิตการบูชาเหมือนพุทธศาสนาทุกประการพระพุทธรูปก็เปรียบเสมือน “องค์พระเจ้า” เพียงแต่ใช้คำที่แตกต่างกันเท่านั้น …