พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรีอบรมเชิงปฏิบัติการ “กรุ่นกลิ่นมนตรา” เปิดโลกสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์เพื่อคุณ Museum for

วันนี้(5เมย.68)เวลา 09.00 น.ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี  นางสาวเบญจพร สารพรม หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมที่ให้เกียรติมาร่วมกิจกรรมอบรม    เชิงปฏิบัติการ “กรุ่นกลิ่นมนตรา” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการ “เปิดโลกสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์เพื่อคุณ”  ว่า ในโลกของพิพิธภัณฑ์ กลิ่นไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศ หากแต่สามารถทำหน้าที่เป็น “สื่อ” ที่ทรงพลังในการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผ่านประสบการณ์ตรงของประสาทสัมผัสกลิ่นในพิพิธภัณฑ์อาจมาในรูปแบบของการตีความที่ต้องอาศัยจินตนาการ กลิ่นจากโบราณวัตถุที่บ่งบอกร่องรอยของกาลเวลา หรือกลิ่นที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้ชมให้เข้าถึงเหตุการณ์หรือบุคคลในประวัติศาสตร์ กลิ่นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องหอมเสมอไป เพราะ “กลิ่น” ที่แท้จริง คือ ภาพสะท้อนของบริบทในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นไม้เก่าของบ้านโบราณ กลิ่นควันกำยานในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ กลิ่นสมุนไพรจากตำรายาโบราณ หรือกลิ่นจาง ๆ ของดินที่อบอวลอยู่ในเครื่องปั้นดินเผา ทุกกลิ่นล้วนซ่อน “เรื่องเล่า” ที่รอให้เราค้นพบ

ดังนั้น กลิ่นจึงมิใช่เพียงสิ่งที่ล่องลอยในอากาศ แต่เป็นสะพานที่เชื่อมโยงผู้ชมให้เข้าใกล้ประวัติศาสตร์ ผ่านประสบการณ์ที่จับต้องไม่ได้ด้วยตา…แต่ลึกซึ้งได้ด้วยลมหายใจ  ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ โดยใช้ “กลิ่น” เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความทรงจำ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้เข้าชมเข้ากับเรื่องราวทั้งทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่นำเสนออยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

 

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี  ร่วมกับร้านคลาวเดีย พีม ในการออกแบบกิจกรรมที่ผสานองค์ความรู้จากหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะการปรุงกลิ่น ศาสตร์แห่งธาตุและดวงดาวที่ผูกโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนับพันปี

โดยมีการบรรยายเรื่อง “กลิ่นแห่งประวัติศาสตร์: จากธรรมชาติสู่พิพิธภัณฑ์” พร้อมทั้งเข้าสู่กิจกรรมหลัก คือ “กรุ่นกลิ่นมนตรา” ซึ่งจะเป็นการทำความรู้จักกับธาตุประจำตัว หินมงคล กลิ่นที่เหมาะสม และลงมือปรุงกลิ่นเฉพาะบุคคลในรูปแบบของก้านไม้หอมที่สามารถนำกลับไปใช้ได้จริง  /การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของสุพรรณบุรีในอดีต   ซึ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นมากกว่าการเวิร์กช็อป แต่จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ความสุข และแรงบันดาลใจสำหรับทุกท่าน

 

ในการนี้ มี ร้อยเอก บุญฤทธิ์  ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักศิบปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เข้าร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจมีผู้เข้าอบรม และทพ.อนุศักดิ์  คงมาลัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้สนใจเข้าร่วมอบรมสมัครเข้าร่วมกิจกรรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 35 คน