สุพรรณบุรี จัดงานคนดีศรีสุพรรณ บวรเชิงสร้างสรรค์ ชุมชนเข้มแข็ง “รื่นเริงบันเทิงนาวาฯ”

ที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี  วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยนางนภัสสร สุวรรณประทีป นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนและนักท่องเที่ยว จำนวนมาก พาบุตรหลานแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย

 

ร่วมกิจกรรม คนดีศรีสุพรรณ บวรเชิงสร้างสรรค์ ชุมชนเข้มแข็ง ภาย โครงการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและสถาบันการศาสนาชุมชนสื่อมวลชนและภาคเอกชนกิจกรรมหลักคือคนดีศรีสุพรรณขับเคลื่อนด้วยพลังบวรจังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้กลไก บวร คือ บ้าน วัดโรงเรียน ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนไทย  อีกทั้งสุพรรณบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี  การได้รับการประกาศจากยูเนสโก เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของดนตรี ในวัฒนธรรมสุพรรณบุรีและเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่านทุนทางวัฒนธรรม

โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทางวัฒนธรรม ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนฐานการพัฒนาคนและเศรษฐกิจบนฐานรากทางวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์

สำหรับ กิจกรรมคนดีศรีสุพรรณ บวรเชิงสร้างสรรค์ ชุมชนเข้มแข็ง “รื่นเริงบันเทิงนาวาฯ”  สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและสถาบันการศาสนา ชุมชน สื่อมวลชน และภาคเอกชน ร่วมกันทำบุญตักบาตร “นาวาภิกขาจาร” การบรรเลงดนตรีไทยวงอังกะลุงจากโรงเรียน กาญจนาภิเษกวิทยาลัยสุพรรณบุรี /ขบวนแห่เรือชาติติพันธ์ 10 ชาติติพันธ์ และการละเล่นเพลงเรือ โดยวงเพชรน้ำหนึ่งซึ่งได้รับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

          ทั้งนี้ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี  วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เกิดจากดำริของพระครูโสภณวีรานุวัตร,ผศ.ดร. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรี ศรีสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เล็งเห็นความสำคัญของกล้วย ซึ่งมีคุณประโยชน์อนันต์ สร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงพัฒนาสถานที่รกร้าง ที่เป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการ โคก หนอง นา ตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วย และต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สามารถเพิ่มรายได้ ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พระครูจึงมีดำริ ให้คณะศิษยานุศิษย์ จัดการประกวดกล้วย ทั้งเรื่องผลผลิต การประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รับความสุข และความรู้ควบคู่กัน  หวังว่าพี่น้องประชาชนประชาชนจะได้ความรู้ ความเข้าใจในการปลูก ดูแลรักษา การนำไปใช้ประโยชน์ และได้เชื่อมโยงการตลาดให้ทุกคนปลูกแล้วมีที่ขาย สามารถ แปรรูป และต่อยอดเชิงธุรกิจได้