วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก 8 จังหวัด ได้จัดให้มีเวทีเสวนาหัวข้อ “เราจะปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างไร ในสถานการณ์ที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยมีพระครูโสภณวีรานุวัตร ผศ.ดร. รองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก พันจ่าเอกสุริยา ภู่สวัสดิ์ นายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดจนผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 5 ราชบุรี ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี และผู้แทนจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ร่วมเวทีเสวนา พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุพรรณบุรีและประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้
จากนั้น ดร.เพ็ชรน้อย ศรีผุดผ่อง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานการแถลงข่าว งดเหล้าเข้าพรรษา ประจำปี 2567 ชูประเด็น “งดเหล้า 3 เดือน เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ ” แนวคิดในการรณรงค์เข้าพรรษาปีนี้ ยกย่องให้กำลังใจ “ คนดื่ม ” เปลี่ยนตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กเยาวชน โดยใช้วาระของเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งได้รับการประกาศจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ เป็นโอกาสในการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันงดเหล้าเข้าพรรษา โดยเชื่อมร้อยเครือข่ายภาคี องค์กรต่าง ๆ บูรณาการ การทำงานรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีหรือเทศกาลสำคัญอื่น ๆ ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐานในการขับเคลื่อนงาน เนื่องจากผู้ดื่มหนักหรือดื่มประจำ ไม่ตระหนักว่าเมือตนเองดื่ม เกิดผลกระทบในแง่ลบกับตัวเองและคนอื่นรอบข้างอย่างไร ทำให้เห็นถึงผลเสียของเหล้าทั้งที่เกิดกับตนเองและคนรอบข้าง การเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โดยเน้นให้คนในครอบครัว เป็นผู้ชักชวนพ่อ แม่ ให้งดดื่ม เพราะกำลังใจจากครอบครัว คนรอบข้าง โดยเฉพาะลูก จะกำลังใจสำคัญให้สามารถเลิกดื่มได้ การงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษาแม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่ก็มีผลต่อจิตใจ คือได้ทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจว่าสามารถหยุดดื่มได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิดรวมถึงอาจเห็นผลดีที่ตามมาจากการหยุดดื่มทำให้เกิดกำลังใจและแสงสว่างทางปัญญาให้สามารถเลิกดื่มเหล้าได้ง่ายยิ่งขึ้น ผลบุญกุศลจากการงดเหล้าเข้าพรรษาจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น เปลี่ยนเราเป็นคนใหม่ที่สดใสกว่าเดิม และอาจมีความคิดที่จะเลิกดื่มเหล้าอีกต่อไปคนไทยเราผูกพันกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย คนส่วนใหญ่มักใช้วันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาเป็นฤกษ์ดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ หรือ ลด ละ เลิก ไม่ทำในสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมของชีวิต อย่างเช่นวันเข้าพรรษา ที่เพิ่งจะถึงในไม่กี่วันนี้ซึ่งหลายคนก็สามารถลดหรืองดเหล้าได้อย่างมหัศจรรย์ในช่วงวันเข้าพรรษา เข้าพรรษาปีนี้ ขอเชิญชวน ภาคีเครือข่าย และประชาชน เป็นกระบอกเสียงและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนทั่วไป ร่วมลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาเพื่อสุขภาพตนเองและครอบครัว
ด้านนายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายประชาคมงดเหล้าทั่วประทศ รณรงค์ ชวน ช่วย เชียร์ งดเหล้าเข้าพรรษา ประจำปี 2567 การดำเนินงานโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมและภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งมีศักยภาพสามารถดำเนินงานการขับเคลื่อนเชื่อมร้อยการทำงาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของแต่ละชุมชนพื้นที่ ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนบูรณการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ร่วมดำเนินการเพื่อลดจำนวนการดื่มหน้าเก่าและหน้าใหม่ ส่งเสริมการทำงานด้านการลดและควบคุมการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัญหาจากแอลกอฮอล์ เปลี่ยนค่านิยมการดื่ม และสนับสนุนภาครัฐให้บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ซึ่งในปีนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชน ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง โดยใช้วิธี ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดรายจ่ายภาคครัวเรือนแล้วยังได้สุขภาพที่ดีขึ้น
ด้านนางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้โอกาสการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเพื่อเชื่อมเครือข่ายองค์กรต่างๆในการณรงค์ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือว่าการณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นจุดเริ่มของการรณรงค์ด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ที่สนับสนุน โดยใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรมดำเนินการขับเคลื่อนรณรงค์ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ในการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มีกรอบแนวคิดในการรณรงค์ 2 ประการ
แนวคิดแรก คือ การรณรงค์สร้างกระแส ในภาพกว้างเพื่อให้เกิดการรับรู้ เชิญชวนคนดื่มให้ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้โอกาสสำคัญในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ระยะเวลา 3 เดือน โดยประสานร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชน เป็นกระบอกเสียงและมีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนทั่วไป ร่วมลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาเพื่อสุขภาพตนเองและครอบครัว
แนวคิดที่ 2 คือ การรณรงค์เชิงคุณภาพ ใช้กระบวนการชวน ช่วย เชียร์ เชิดชู ให้ผู้สมัครงดเหล้าเข้าพรรษาสามารถรักษาความตั้งใจงดเหล้าจนครบพรรษาและงดเหล้าตลอดชีวิตได้ในที่สุด โดยชุมชนเป็นผู้ออกแบบดำเนินการขับเคลื่อนรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระดับพื้นที่ชุมชน ตำบล (แกนนำชุมชน คนหัวใจเพชร อสม. รพ.สต. พระ ครู ครอบครัว ฯลฯ) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการดื่ม ชวนคนดื่มเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา มีการติดตามให้กำลังใจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบการจัดตั้งชมรม ส่งเสริมงานจิตอาสาในชุมชน เชียร์ให้คนงดครบพรรษาให้กำลังใจชวนงดต่อ (3 เดือน – 3 ปี) จนกลายเป็นคนหัวใจเพชร (ตั้งใจเลิกเหล้าตลอดชีวิต) อีกทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนงดเหล้า “ไม่เลี้ยง ไม่ดื่ม และไม่ขาย” ภายใต้การรณรงค์งานบุญประเพณี งานเทศกาลสำคัญ งานศพปลอดเหล้า สร้างกฎกติกาชุมชน เช่น งานศพปลอดเหล้า งานทอดกฐินปลอดเหล้า งานบวชปลอดเหล้า เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือกับร้านค้าในชุมชนให้ควบคุมการขายให้ถูกกฎหมาย การส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ได้ออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานตลอดทั้งปี ในนาม“ชุมชนคนสู้เหล้า” ภายใต้การสนับสนุนของประชาคมงดเหล้าทั้ง 8 จังหวัด ในภาคตะวันตก
ทั้งนี้ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถตอบวัตถุประสงค์โครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ได้ดังนี้ คือ
– โครงการลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม ของกระทรวงมหาดไทย
– โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม
– โครงการชุมชนสร้างเสริมสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข
– โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ของกระทรวงศึกษาธิการ