เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 5 ก.ค.67 นพ.กิตติ กรรภิรมย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวรายงาน มี นพ.วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบฯ นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ประธาน CFO เขตสุขภาพที่ 5 นพ.จิตตรัตน์ เตชวุฒิพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน ดร.นพ.กิติกร วิชัยเรืองธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.รอยัล ฮาร์ท การแพทย์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 5 ผู้อำนวยการและผู้แทนโรงพยาบาลในแต่อำเภอของจังหวัดประจวบฯ เข้าร่วม โดยมี คณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ รพ.ประจวบฯ ให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ชั้น 1 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์
จากนั้น ประธาน พร้อมผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมด ได้ร่วมตัดริบบิ้นแสดงสัญลักษณ์การเปิดศูนย์โรคหัวใจ ที่บริเวณ ชั้น 1 อาคารผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และรับชมวิดิทัศน์ “ศักยภาพการบริการของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์” ก่อนเดินเยี่ยมชมการให้บริการของศูนย์โรคหัวใจ
นพ.กิตติ กรรภิรมย์ ผู้ตรวจราชการฯเขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า จากการรายงานจะเห็นได้ว่าโรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ หากมีการจัดบริการดูแลทางด้านโรคหัวใจที่ดี มีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ลดอัตราการเสียชีวิตได้ นับเป็นสิ่งที่ดีที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ได้พัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ครบวงจร 24 ชั่วโมง โดยร่วมกับบริษัทภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลโรคหัวใจ ซึ่งเป็นการร่วมมือใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ให้บริการดูแลผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจได้อย่างครอบคลุม มีเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมบุคลากรเฉพาะทาง
นพ.กิตติ กล่าวต่อว่า และที่สำคัญ ลดการส่งต่อเพื่อไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านการดูแลโรคหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง ได้เข้าถึงบริการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ส่งผลให้ลดอัตราการเสียชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข / ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทรอยัลฮาร์ทการแพทย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ความร่วมมือในการจัดศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบฯ ทำให้พี่น้องประชาชน ได้เข้าถึงบริการการดูแลรักษา การตรวจคัดกรองและค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ด้าน นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผอ.รพ.ประจวบฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ A plus ขนาด 278 เตียง มีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก และสาขารอง ให้การดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทุกแผนก ให้การดูแลผู้ป่วยทั้งในเขตอำเภอเมือง และอำเภอข้างเคียง มีผู้รับบริการผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 1,457 รายต่อวัน และผู้ป่วยใน 261 รายต่อวัน ซึ่งโรคหัวใจ เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และที่สำคัญโรคนี้สามารถรักษาและป้องกันได้ โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงอย่างชัดเจน หลังจากมีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง การตรวจคัดกรอง และค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
นพ.สุรัตน์ กล่าวต่อว่า เดิมโรงพยาบาลประจวบฯยังไม่มีการให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจร 24 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ที่ต้องได้รับการฉีดสี และขยายเส้นเลือดหัวใจตีบฉุกเฉิน ต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวหินและโรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งมีระยะทางไกล ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และ บริษัท รอยัลฮาร์ทการแพทย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือจัดตั้ง ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบศีรีขันธ์ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านหัวใจ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอใกล้เคียง โดยเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกลเช่นเดิม มีสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจต่อการรับบริการมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนายกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการักษามาตั้งแต่กลางเดือน มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา รักษามาแล้วประมาณ 50 กว่าราย คนไข้มีทั้งในพื้นที่ อ.เมือง และอำเภอใกล้เคียงทั้ง อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อย ของ จ.ประจวบฯ และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีศูนย์โรคหัวใจ เช่น จ.ชุมพร โดย ณ ขณะนี้ยังให้บริการในคนไข้ใช้สิทธิเบิกได้จ่ายตรง ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ คนไข้สิทธิประกันสังคม ส่วนสิทธิบัตรทอง บัตรสุขภาพถ้วนหน้านั้นยังต้องรอ ซึ่งก็อีกไม่นาน ซึ่งอยู่ในขบวนการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.
ดร.นพ.กิติกร วิชัยเรืองธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.รอยัล ฮาร์ทฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจ ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย และพื้นที่ขาดแคลน สามารถเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจ มีโอกาสได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย เนื่องจากปัจจุบัน โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือเฉพาะทาง ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงเป็นสาเหตุของอัตราการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทฯจึงได้พัฒนาและริเริ่มธุรกิจด้านการลงทุน และบริหารงานศูนย์โรคหัวใจร่วมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ขาดแคลนสามารถจัดตั้งศูนย์หัวใจได้ ทั้งนี้จากประสบการณ์การบริหารงานศูนย์หัวใจ นับ 10 ปีของทีมงาน ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจ และได้รับการยอมรับ ในการจัดตั้งและบริหารศูนย์หัวใจร่วมกับ องค์กรสุขภาพต่างๆมากมายในประเทศ อาทิ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท โรงพยาบาลหัวหิน โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น
สำหรับการจัดตั้งศูนย์หัวใจและหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เปิดบริการ เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ปัจจุบัน เป็นศูนย์หัวใจครบวงจร ด้านการสวนรักษาหัวใจ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ และ การผ่าตัดหัวใจ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย ประกอบด้วย ห้องสวนหัวใจ หอผู้ป่วยหนักหัวใจ หอผู้ป่วยเฉพาะโรคหัวใจ ที่ทันสมัยพร้อมให้การบริการแก่ประชาชนใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และใกล้เคียง ทางแผนกผู้ป่วยนอกศูนย์หัวใจและสมอง Royal heart ให้บริการผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษา โดยให้บริการการตรวจสุขภาพหัวใจทั้งหมด 3 ชนิด ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย นั่นคือ 1.การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน (Exercise Stress Test : EST) 2.การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram : ECHO) 3.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เวลาให้บริการ จ. – ศ. 08.00 – 16.00 น. ส. – อา 07.00 – 15.00 น.
ในส่วนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Lab) หรือเรียกว่า Cath Lab เป็นห้องพิเศษที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลภาพหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดตามส่วนอื่นๆของร่างกาย โดยภาพจะปรากฏขึ้นที่จอและบันทึกเป็นเทปโทรทัศน์ระบบดิจิตอล สามารถปรับหมุนได้รอบทิศทางตรวจดูซ้ำได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์ได้ภาพจากทุกมุมตามต้องการได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน
ในส่วนห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ (Royal heart) ให้บริการ ประกอบด้วย 1.การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram) 2.การใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angioplasty) 3.การขยายหลอดเลือดและการใส่ขดลวดรักษาการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ (PCI & Stent) 4.การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Permanent Pacemaker Implantation) 5.การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation)
นอกจากนี้ มีห้อง CCU (Coronary Care Unit, Cardiac Care Unit หรือ Critical Care Unit) เป็นห้องที่ใช้เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ โดยผู้ป่วยทั้งหมดที่อยู่ภายในห้อง CCU จะมีความรุนแรงของอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดในระยะวิกฤต จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกอย่างรุนแรง
สำหรับศูนย์โรคหัวใจ 24 ชม. โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 032-523000 ถึง 4 แผนกผู้ป่วยนอกหัวใจ ต่อ 4122 , แผนกห้องตรวจสวนหัวใจ ต่อ 4123 , แผนกหอผู้ป่วยใน (CCU ) ต่อ 4112 , อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน ชั้น 1 ศูนย์ประสานงานโรคหัวใจ 24 ชม. 066-0051414 ////////