วันที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 13.29 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เรือนจำกลางนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครปฐม ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม และผู้อำนวยการสถาบันกักกันนครปฐม เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริหารและผู้มีอุปการคุณสนับสนุนการดำเนินงาน “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” พร้อมทอดพระเนตรการแสดงชุดระบำไดโนเสาร์และลำตัด จากนั้น ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” ซึ่งเป็นห้องสมุดลำดับที่ 31 พร้อมทอดพระเนตรการดำเนินงาน “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เรือนจำกลางนครปฐม ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในเรือนจำทั่วประเทศ ได้รู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ และรักการอ่าน ทำให้ผู้ต้องขังเกิดความคิดและปัญญาที่ดี นอกจากเป็นการพัฒนาคนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมแล้ว ยังมีมูลน่าเชื่อว่าผู้มีการศึกษาสูง จะช่วยลดการกระทำความผิดลงได้ และไม่กระทำผิดซ้ำ โดยมีสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน
สำหรับห้องสมุดแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Library เป็นการออกแบบแนวคิดห้องสมุดเชิงสร้างสรรค์ โดยผู้ต้องขังร่วมกันพัฒนา และออกแบบห้องสมุด ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์ของห้องสมุด เช่น ชั้นหนังสือ ที่แสดงหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ โดยการฉลุลาย การเชื่อมเหล็ก และการวาดภาพผ่านลายเส้น ภายในห้องสมุดประกอบด้วยมุมความรู้ต่าง ๆ เช่น มุมซ่อมหนังสือด้วยการเย็บกี่, มุม มสธ., มุมหนังสือทั่วไป, มุมหนังสือพระราชนิพนธ์, มุมเฉลิมพระเกียรติ และห้องอ่านหนังสือเสียง ซึ่งพบว่านิตยสารและวารสาร National Geographic และ The Secret มียอดการยืมสูงสุด โอกาสนี้ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ถวายของที่ระลึก แล้วพระราชทานถุงพระราชทานแก่ผู้แทนผู้ต้องขังชาย-หญิง
จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมและนิทรรศการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของเรือนจำกลางนครปฐม มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนภารกิจ ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย การฝึกทักษะอาชีพที่มีความหลากหลาย เช่น การสาธิตการออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ และการทอผ้าแบบครบวงจร การสาธิตการทำอาหารไทย และกระทงจากผ้าประดิษฐ์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เข้ามาช่วยสอนการออกแบบลวดลายกระทง เช่น ลายรังแตน และลายเล็บมือนาง การสาธิตการทำเบเกอรี และอาหารนานาชาติ ประกอบด้วยการสอนทำคุกกี้ โดยโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สูตรเบเกอรี โดยเรือนจำกลางนครปฐม และฟูดสไตลิสต์ สุทธิพงษ์ สุริยะ หรืออาจารย์ขาบ จากพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยเชฟแบรด ที่มาช่วยสอนการทำเบเกอรีและการออกแบบอาหารต่าง ๆ ให้ดูทันสมัย ผลงานการฝึกอาชีพเปเปอร์มาเช ด้วยการนำกระดาษเหลือใช้มาปั้นเป็นตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ มีผลงานการเรียนรู้การฝึกวิชาชีพช่างเชื่อม จากวิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม การสาธิตการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ มีผู้ต้องขังเข้าอบรม 496 คน, นิทรรศการฝึกวิชาชีพช่างไม้และการแกะสลัก, นิทรรศการฝึกอาชีพศิลปะบำบัดด้วยการวาดภาพ, ผลงานการฝึกอาชีพ การถักเชือกมาคราเม ซึ่งเป็นการถักจากเชือกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ตุ๊กตา ผ้าคลุมโต๊ะ การถักโครเชต์ตุ๊กตา ซึ่งผู้ต้องขังมีพื้นฐานการถักโครเชต์มาก่อน จากนั้นมาแกะแบบแล้วถักเป็นตุ๊กตารูปต่าง ๆ ตามจินตนาการ ผลงานจากการฝึกวิชาชีพด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามและการประดิษฐ์หินเทียมจากเศษวัสดุเหลือใช้ นิทรรศการฝึกวิชาชีพศิลปะบำบัดด้วยการปั้นพระ การออกแบบทรงผมชายและหญิง สำหรับผลงานของผู้ต้องขังจะนำไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องขัง นำไปใช้เป็นทุนสะสมหลังพ้นโทษ ซึ่งผู้ต้องขังมีโอกาสเรียนรู้วิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเรียนจบสามารถรับวุฒิบัตรวิชาชีพ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ เรือนจำกลางนครปฐม มีอำนาจการควบคุมผู้ต้องขังที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึงตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุม จำนวน 4,015 คน แบ่งออกเป็นผู้ต้องขังชาย จำนวน 3,610 คน และผู้ต้องขังหญิง จำนวน 405 คน
*****************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม – ภาพ/ข่าว