ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสามชุก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี นายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงานวันเก็บเกี่ยวถั่วเขียว KUML และเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน กลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหนองผักนาก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี: จากงานวิจัยสู่แปลงผลิตด้วยความรู้และเทคโนโลยี และงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดสุพรรณบุรี
ภายในงานมีกิจกรรมการเสวนา ในหัวข้อ กว่าจะเป็น “ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน กลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหนองผักนาก” และลงแขกเก็บเมล็ดพันธุ์ KUML ด้วยมือ รวมถึงชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ จากนั้นเกษตรกรเข้าสู่บทเรียน งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งออกเป็น 4 สถานีเรียนรู้ ดังนี้ สถานีเรียนรู้ที่ 1 เทคโนโลยีการผลิตข้าว โดย นายนิมิต สว่างศรี ประธาน ศพก. อำเภอสามชุก /สถานีเรียนรู้ที่ 2 การจัดการดินและปุ๋ยโดยนายทนง ไม้เลี้ยง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี/สถานีเรียนรู้ที่ 3 การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management)โดยนายธีระพงษ์ เล่าโจ้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี /สถานีเรียนรู้ที่ 4 การส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา : ถั่วเขียว KUMLโดยนางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอสามชุก สำนักงานเกษตรอำเภอดอนเจดีย์ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าไซ ร่วมกับฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกันจัดงานดังกล่าวขึ้น เพื่อขยายผลความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML เช่น มาตรฐานการเพาะปลูก และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ตามหลักวิชาการให้เป็นที่รู้จักของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียว ต่อไป
สำหรับ ถั่วเขียวเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรไทยเพิ่มรายได้ เพราะนอกจากจะใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวได้เร็วแล้ว ยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ปัจจุบันสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาถั่วเขียวสายพันธุ์ดี 6 สายพันธุ์ (KUML #1 – 5,8) ที่ให้ผลผลิต 300 กิโลกรัมต่อไร่ และมีขนาดเมล็ดใหญ่ มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด เป็นการเพิ่มผลผลิตและยกระดับการผลิตถั่วเขียวที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทยที่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ซึ่งได้วางแผนการขยายผลถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน บริษัท กิตติทัต จำกัด ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและยกระดับกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการ กำหนดมาตรฐานและราคาถั่วเขียว KUML รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวปลอดภัย ในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ โดยปริมาณความต้องการผลผลิตถั่วเขียวเพื่อแปรรูปเป็นถั่วกะเทาะซีก ปีละ 4,000 ตัน และบริษัท ข้าวดินดี จำกัด รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวอินทรีย์ ในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยปริมาณความต้องการผลผลิตถั่วเขียวเพื่อแปรรูปเป็นพาสต้าถั่วเขียวอินทรีย์ ปีละ 20 ตัน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML จะดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ โดยมีการพัฒนาต้นแบบเกษตรกร แปลงเรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเขียวในระดับชุมชน มุ่งหวังการสร้างกลุ่มผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตสูง (Grain) ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน