เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 ส.ค.2566 ที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถ.มหาราช อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นางจินตนา แววสวัสดิ์ ผอ.กลุ่มจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี พร้อมด้วย นายวันชัย เหี้ยมหาญ , นายปิยะ พวงสำลี คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.)ระดับเขตพื้นที่เขต 5 น.ส.ใจทิพย์ สอนดี นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ สปสช.เขต 5 ร่วมตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ม.50 (5) ของศูนย์ฯหลักประกันสุขภาพประชาชนจ.ประจวบฯ หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระฯจังหวัดประจวบฯ ซึ่งเป็นหน่วยที่ 1 ในเขต 5ราชบุรี ที่ผู้แทน อคม.ได้เข้าตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯมาตรา 50(5) ที่ต้องตรวจความพร้อมในการให้บริการสุขภาพตามมาตรฐานบริการตามเกณฑ์ที่กรรมการควบคุมฯไว้จำนวน 24 คน
โดยมี น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานศูนย์ฯจ.ประจวบฯ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ทั้งนี้มี นางจารุรัตน์ พัฒน์ทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ(สสจ.) นายเลิศเชาว์ สุทธาพานิช เภสัชกรชำนาญการ สสจ. นางมณฑา ขนเม่น ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค จ.ประจวบฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานหลักประกันสุขภาพในแต่ละโรงพยาบาลพื้นที่ จ.ประจวบฯ เข้าร่วม
นางจินตนา แววสวัสดิ์ ผอ.กลุ่มจังหวัด สปสช.เขต 5 กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ของ สปสช.เขต 5 ราชบุรี ครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคตะวันตก คือ ราชบุรีนครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อีกยังเป็นที่ตั้งของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 ( 5 ) ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ข้อมูลในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ และรับเรื่องร้องเรียนถือเป็นช่องทางร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในกรณีที่ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุข ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือประชาชนเกิดความเสียหาย อันเนื่องจากการเข้ารับบริการสุขภาพหรือบริการสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานนี้ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจสุขภาพในทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างสัมพันธภาพกับหน่วยอื่นๆ และภารกิจอีกเรื่องคือ การรับเรื่องร้องเรียนให้ประชาชนรู้ว่า มีมาตรา 41 สำหรับช่วยเหลือเยียวยา กรณีได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การร้องเรียนโดยตรง แต่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ประชาชนมี รวมถึงข้อมูลที่ประชาชนคนไทยพึงรู้ และสำหรับผู้ที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็สามารถสอบถามได้ทางสายด่วน สปสช. โทร.1330 ซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมง
น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานศูนย์ฯจ.ประจวบฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯจ.ประจวบฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน ที่มีเข้ามายังหน่วยรับเรื่องฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – สิงหาคม 2566 ทั้งเรื่องร้องเรียนในมาตรา 41 และมาตรา 57 และ มาตรา 59 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรับเรื่องร้องเรียนในด้านบริการสุขภาพ จำนวนกว่า 38 เรื่อง ซึ่งเรื่องทั้งหมดได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทุกเรื่อง ในส่วนของกลไกการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียน ในด้านบริการสุขภาพ ตามมาตรา 50 ( 5 ) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังเช่นกรณี พบว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง โดนเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง พื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ อีกทั้ง ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ศูนย์ 50(5) ของจังหวัดประจวบฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ เนื่องจากการร้องเรียนจะเป็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ประจวบฯ ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลัก ในการเผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ สร้างความข้าใจ ระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งรับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำ ปรึกษา ประสานงานแก้ไขปัญหาร่วมกับศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต และจังหวัด นอกจากนี้ยังพัฒนาและเสริมศักยภาพตัวแทนประชาชนที่เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับจังหวัด ระดับเขต ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน /องค์กรประชาชน และเข้าร่วมดำเนินงานพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ อีกทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการเชื่อมร้อยเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ในการพัฒนาและสร้างมาตรฐานเดียวกันของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอีกภารกิจ ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูล จัดทำข้อเสนอและความเห็นต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ร่วมผลักดันเชิงนโยบาย ระบบบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ//////////////