ศูนย์ฯหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ประจวบฯ ติวเข้มเครือข่าย-กรรมการกองทุน กปท. สร้างความเข้าใจสิทธิในระบบบัตรทอง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา  ที่ห้องประชุมวิชัยนิดาธรรมาเจริญราช วัดเกาะหลัก พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ประจวบฯ ได้จัดให้มีการอบรมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. โดยมี นายเกตุ พราหมณี นายกสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ประจวบฯ กล่าวต้อนรับ มี น.ส.ใจทิพย์ สอนดี นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) เขต 5 ราชบุรี เป็นวิทยากร และมีคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ในพื้นที่เขตเทศบาล และ อบต. ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบฯ ตลอดจน แกนนำภาคีเครือข่ายประชาชนทั้ง 9 ด้าน เข้าร่วม

น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานฯ จ.ประจวบฯ กล่าวถึง ตามที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบฯ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระตามมาตรา 50(5) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตั้งแต่ ปี 2554 เพื่อดำเนินกิจกรรม ได้แก่ 1.ด้านการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ  2.ด้านการรับเรื่องร้องเรียน 3.ด้านการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมและเป็นเครือข่ายในการคุ้มครองสิทธิ เพื่อการพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขในพื้นที่  4.ด้านการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  และ 5.ด้านการรายงาน วิเคราะห์ข้อมูล

ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานฯ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเข้าใจ รับรู้การเข้าถึงสิทธิเมื่อเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ รวมไปถึงคุ้มครองกรณีไม่ได้รับความสะดวกที่เป็นปัญหาอุปสรรค จึงนับเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพมาตรฐาน ติดตามและพัฒนาระบบ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดความเชื่อมโยงภาคีด้านสุขภาพในพื้นที่ต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีศูนย์ประสานงานเป็นกลไกสำคัญ

นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานฯ มีแผนการจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรับเรื่องร้องเรียนคุ้มครองสิทธิประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2566 ได้กำหนดจัดกิจกรรม ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้แก่ แกนนำชุมชน แกนนำเครือข่ายประชาชนทั้ง 9 ด้าน และคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น โดยในการอบรม จะมีการศึกษา โครงการคณะกรรมการกองทุนฯ มีการทำแบบทดสอบ ก่อนและหลังเข้ารับการอบรม และร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่พบจากการใช้บริการ และข้อเสนอแนะในการพัฒนา อีกทั้งร่วมพิจารณาในการทำโครงการคณะกรรมการกองทุนฯในแต่ละพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ด้าน น.ส.ใจทิพย์ สอนดี นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงการดำเนินงานและการขับเคลื่อนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ( กปท.) โดยทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนฯ ก็เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต  โดย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบต.-เทศบาล) เป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่ มีความประสงค์เข้าร่วมดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และมีความพร้อมในการอุดหนุนเงินหรืองบประมาณ  นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตกลงสมทบเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ ในอัตราร้อยละของเงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้  1. สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 กรณีรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่รวมเงินอุดหนุน ต่ำกว่า 6 ล้านบาท  2. สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 กรณีรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่รวมเงินอุดหนุน ตั้งแต่ 6 ถึง 20 ล้านบาท  3. สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 กรณีรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่รวมเงินอุดหนุน สูงกว่า 20 ล้านบาท///////////