เกษตรจังหวัดนราธิวาส จัดทำ MOU เงินอุดหนุน โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ขณะที่เกษตรกรรายย่อย 96 ชุมชน ตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาอาชีพการเกษตร ต่อยอดความสำเร็จในอนาคตต่อไป
วันนี้ 14 ส.ค.61 นางรัตนา ถิระโชติ เกษตรจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU การขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสระหว่างเกษตรจังหวัดนราธิวาสกับคณะกรรมการพัฒนาด้านการเกษตรระดับชุมชน โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร( โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรรายย่อย) กิจกรรมพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ถ.ศูนย์ราชการ ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส
นางรัตนา ถิระโชติ เกษตรจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ในนามรัฐบาลได้สนับสนุนเงินอุดหนุนให้ชุมชนละ 300,000 บาท จำนวน 96 ชุมชน เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 28,800,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านแปดแสนบาทถ้วน) แล้วนั้น จึงอยากฝากให้คณะกรรมการพัฒนาด้านการเกษตรระดับชุมชน เกษตรอำเภอ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกอำเภอ ได้กำกับดูแลการดำเนินโครงการกลุ่มย่อยในชุมชนให้มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี และบริหารจัดการกิจกรรมให้สมาชิกกลุ่มและเกษตรกรในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ โดยให้เกิดการระดมหุ้น และเกิดทุนหมุนเวียนในกลุ่มย่อย ทั้งยังถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนชุมชนมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
นายเดช มันทการณ์ กรรมการชุมชน ต.ภูเขาทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส สนับสนุนงบประมาณให้เกษตรกรได้พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ จนสามารถต่อยอดความสำเร็จของโครงการต่างๆได้จนประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสได้จัดทำเวทีชุมชนๆละ 2 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรม 42,000 ราย จัดฝึกอบรมเกษตรกร ชุมชนๆละ 4 รุ่นๆละ 3 วัน ซึ่งมีเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมและผ่านการฝึกอบรมแล้วจำนวน 19,200 ราย และต่อเนื่องกับกิจกรรมการพัฒนากลุ่มเกษตรกร จำนวน 96 ชุมชนๆละ 300,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 28,800,000 บาท ซึ่งจะมีการโอนเงินให้ชุมชนในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ต่อไป
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการฯดังกล่าว เน้นพัฒนาเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตร ซึ่งคาดว่าเกษตรกรทุกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ และผ่านการฝึกอบรมสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในพื้นที่การเกษตรของตนเอง อันจะส่งผลให้เกษตรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากของระบบเกษตรกรรมของประเทศ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป