วันนี้(1 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมขุนแผน ชั้น ๔ ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี นายปริญญา เขมะชิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวขณะเป็นประธานเปิดโครงการ ฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : กรณีแผ่นดินไหวว่า
การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการทดสอบ การใช้แผนเผชิญเหตุในการอำนวยการ การสั่งการ การประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน รวมถึงบทบาทหน้าที่ที่ใช้ในการเผชิญเหตุ การแจ้งเตือน การติดต่อสื่อสาร การบริหารทรัพยากร จะทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น ในการฝึกซ้อมๆ ครั้งนี้ จะทำให้มีการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการ รู้บทบาทหน้าที่ตามเผชิญเหตุแผ่นดินไหว การปฏิบัติหน้าที่การสั่งการ ให้รับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในแต่ละพื้นที่
ด้านนายปภิณวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มติมว่า เนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : กรณีแผ่นดินไหว โดยให้จัดทำแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวของจังหวัด กำหนดบทบาทภารกิจหน่วยงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับคู่มือบัญชาการเหตุการณ์จังหวัด พร้อมทั้งกำหนดให้มีการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจถึงกลไกลการปฏิบัติงานร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี
จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวโดยใช้รูปแบบการฝึกซ้อมบนโต๊ะ( Table Top Exercise : TTX ) เพื่อจัดทำแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวในแต่ละระดับให้สอดคล้องกับการจัดทำคู่มือบัญชาการเหตุการณ์สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดกรณีแผ่นดินไหว และนำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๗๐ ไปสู่การปฏิบัติกรณีแผ่นดินไหวทุกระดับและเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวแต่ละระดับ อาทิ ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ระบบสื่อสาร การอพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัย การจัดการทรัพยากรการเผชิญเหตุ และการจัดการศูนย์พักพิงในพื้นที่ ให้เกิดการ บูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการฝึกปฏิบัติบุคลากรในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นให้มีศักยภาพด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากแผ่นดินไหว รวมทั้งสร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมภาคประชาชนในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ๑0 อำเภอ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น เข้าร่วมการฝึกฯ รวมทั้งสิ้น ๗๐ คน พร้อมกันนี้ยังฝึกผ่านระบบซูมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้ง 10 อำเภอ ด้วย