เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาจากทุนวัฒนธรรมทวารวดีสร้างสรรค์ : สร้างคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น โดยมี ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภฏนครปฐมกล่าวรายงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว รองหัวหน้าแผนงานวิจัยฯ กล่าวรายงานการดำเนินงานวิจัยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ณ หอประชุม อาคารสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ดร.วิรัตน์ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของโครงการฯ ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เรื่องการพัฒนาจากทุนวัฒนธรรมทวารวดีสร้างสรรค์ : สร้างคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ พัฒนา และสร้างสรรค์คุณค่าความสำคัญของอารยธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และการบริการจากทุนวัฒนธรรมทวารวดีที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการและผู้สืบทอด ผู้สร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมทวารวดี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้กับคนในชุมชน ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดนครปฐมเคยเป็นเมืองโบราณที่สำคัญในอารยธรรมทวารวดีที่พิสูจน์ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและหลักฐานเชิงวิชาการ ขณะเดียวกันทุนวัฒนธรรมทวารวดีได้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดนครปฐมและเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งจากการประชุมระดมความคิดเห็นกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานจังหวัดวัฒนธรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด ท่องเที่ยวจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครนครปฐม สภาอุตสาหกรรม สถานศึกษา นักวิขาการทวารวดี วัด ผู้ประกอบการวัฒนธรรม เพื่อให้เห็นความสำคัญต่อจังหวัดนครปฐมเนื่องจากเป็นรากเหง้าของจังหวัดและเป็นต้นกำเนิดทางศาสนาและศิลปกรรม ส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของการศึกษา การอนุรักษ์และการสร้างสรรค์สืบไป
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว รองหัวหน้าแผนงานวิจัยฯ ได้กล่าวถึง กระบวนการสร้างเครือข่าย การสร้างกระบวนการรับรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของอารยธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม โดยใช้กระบวนการสืบค้นวิเคราะห์และสังเคราะห์ทุนวัฒนธรรมทวารวดี ผ่านกระบวนการคัดกรอง จัดกลุ่มเพื่อให้ได้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทวารวดีที่โดดเด่น สามารถประยุกต์ใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมได้ โดยนำอัตลักษณ์ที่จับต้องได้และอัตลักษณ์ที่จับต้องไม่ได้ มาประยุกต์ใช้เป็นต้นตอแรงบันดาลใจ ในมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมให้กับผู้ประกอบการ ช่างฝีมือ หรือศิลปิน เพื่อสร้างความยั่งยืน สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ผ่านสื่อการเรียนรู้และการนำเสนอทุนวัฒนธรรมทวารวดีที่ทันสมัย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม การกำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมทวารวดี ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของคนในจังหวัดนครปฐม ในการดำเนินงานวิจัยครั้งนี้เป็นการนำเอาชุดข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมทวารวดีเป็นฐานคิดของทุนทางวัฒนธรรมที่จะสังเคราะห์นำไปสู่การสร้างสรรค์ใน 5 มิติ ได้แก่ 1) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณค่าวัฒนธรรมทวารวดีสู่ศาสตร์แผนที่ทางวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากศิลปะทวารวดี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐม 3) การสร้างสรรค์การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์จากศิลปะทวารวดี สื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมทวารวดี 4) การบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม และ 5) การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจและผลลัพธ์ทางสังคมและผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากศิลปะทวารวดีในจังหวัดนครปฐม
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมศิลปากร/พิพิธภัณฑ์ส่วนราชการจังหวัด วัด องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา และสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครนครปฐม โรงเรียน 4 พื้นที่วิจัย ผู้ประกอบการ ศิลปินช่างฝีมือ ภาคธุรกิจ (หอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรม) ปราชญ์ชุมชน นักวิชาการการรถไฟ เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวม 70 ราย เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างกลไกและเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ พัฒนาสร้างสรรค์คุณค่าความสำคัญของอารยธรรมทวารวดี เสนอแนะแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมทวารวดี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนสู่ความยั่งยืนบนพื้นฐานจิตสำนึกรักท้องถิ่น