วันนี้ (1 พ.ค.66) เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง ประมาณ 150 คน ที่ประสบอุทกภัยเกี่ยวกับเรื่องประมง เดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งจ่ายเงินชดเชยเยียวยา อุทกภัยที่ผ่านมา เนื่องจากต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน และ ต้องใช้หนี้ ธ.ก.ส. ที่กู้เงินมาลงทุนก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีนายปริญญา เขมะชิต รอง ผวจ.สุพรรณบุรี นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี และผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาชี้แจงถึงความล่าช้าของเงินเยียวยาดังกล่าว
นายปริญญา เขมะชิต รอง ผวจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่าทางจังหวัดได้ส่งเรื่องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้ว และได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่เงินยังมาไม่ถึงจังหวัด ตรงนี้ยอมรับว่าอาจจะล่าช้า แต่เราไม่โทษใคร เพราะไม่ใช่ที่สุพรรณบุรี จังหวัดเดียวที่ประสบปัญหา ยังมีอีกประมาณ 30 จังหวัดที่ยังไม่ได้เงินเยียวยา โดยได้รับแจ้งว่าเงินจะต้องมาถึงจังหวัดและถึงมือเกษตรกรอย่างช้าไม่เกินวันที่ 27 พ.ค.66 ซึ่งทางจังหวัดจะช่วยเร่งรัดให้เร็วและถูกต้องที่สุด
ด้านนายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าขบวนการที่เกษตรได้รับความเดือดร้อนกับขบวนการที่ทางราชการเร่งช่วยเหลือ เหมือนจะสวนทางกัน เพราะในขบวนการทำงานของจังหวัดนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ในการช่วยเหลือเยียวยานั้นมีเงินอยู่ 3 กอง กองที่ผู้ว่าฯมีอำนาจ จำนวน 20 ล้านบาท กองที่กระทรวงฯมีอำนาจ 50 ล้านบาท และที่เกินจากนี้คือเงินจากรัฐบาลอยู่กระทรวงการคลัง ในส่วนของสุพรรณบุรีนั้นผ่านทั้งของจังหวัด ผ่านทั้งของกระทรวงฯเพราะเม็ดเงินที่ขอไปด้านประมงจำนวน 104,870,865 บาท ฉะนั้นจึงต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลัง เมื่อผ่านจังหวัดฯ ประมงฯได้รวบรวมเอกสารตรวจสอบประมาณ 2,000 รายด้วยความถูกต้องเรียบร้อยหมดแล้ว ประมงได้ส่งเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบไปที่กระทรวงเกษตรฯวันที่ 8 ก.พ.66 หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรฯส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลังวันที่ 20 มี.ค.66 เพื่อพิจารณา ซึ่งยังมีอีกหลายจังหวัดที่ประสบภัยแบบเดียวกับสุพรรณบุรี
ล่าสุดกระทรวงการคลังตอบมาที่กระทรวงเกษตรฯแล้วว่า อนุมัติวงเงินให้กับกระทรวงเกษตรฯในการช่วยเหลือเกษตรกรที่สุพรรณบุรี จำนวน104,870,865 บาท ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯมีจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทั้งด้านเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ประมาณ 20 จังหวัด จึงต้องดูว่าจังหวัดไหนภัยใกล้หมดก่อน ก็โอนเงินไปก่อน ในส่วนของสุพรรณบุรี หมดภัยเมื่อวันที่ 12 เม.ย.66 และขอขยายไปถึงวันที่ 27 พ.ค.66
อย่างไรก็ตามตนได้ประสานกับกับส่วนกลาง ทราบว่าขณะนี้อยู่ในระบบการเงินการคลังที่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติ คาดว่าไม่เกินวันที่ 3 พ.ค.66 จะเรียบร้อยเงินถึงมือเกษตรกร