เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ในวันที่อาตมากำลังเขียนจุดไฟในใจคนฉบับนี้ ก็เป็นหนึ่งวันก่อนจะถึงวันมาฆบูชา และเมื่อจุดไฟในใจคนฉบับนี้ไปถึงมือผู้อ่าน ก็เลยวันมาฆบูชามาแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็คงจะไม่สายเกินไปที่จะพูดถึงวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชานั้น อันที่จริงก็น่าจะมีแต่เมืองไทยเราที่ถือเอาเป็นวันหยุดราชการจริงจังเพราะประเทศอื่น ถ้าวันของทางพุทธศาสนา ก็มักจะหยุดแค่วิสาขบูชา ส่วนมาฆะ กับอาสาฬหะ ไม่ได้หยุดไม่ได้ฉลอง มันก็น่าคิดว่ามาฆบูชานั้นสำคัญอย่างไร ทำไมเราชาวไทยจึงถือว่าเป็นวันสำคัญ
มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในเดือนมาฆะ เพราะเดือนจันทรคติในภาษาแขกนั้นเขามีชื่อ ไม่ได้มีแค่เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม แบบบ้านเรา แล้วเดือนที่ตรงกับเดือนสามเราเขาเรียกว่าเดือนมาฆะ ก็เลยเป็นมาฆบูชา มาฆบูชาเป็นวันที่พระพุทธองค์แสดงธรรมแก่พระสงฆ์หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ที่วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ คนเรามักจะจำและให้ความสำคัญกันแค่นี้ ว่านี่นะ มีจาตุรงคสันนิบาต คืออย่างที่บอกมาเป็นความอัศจรรย์
เอาเข้าจริง ๆ แล้ว มีเรื่องที่ควรจะอัศจรรย์กว่านั้น เวลานั้นพระพุทธองค์เพิ่งตรัสรู้ได้ไม่นานนัก แต่พระองค์ก็มีพระสาวกมากมายนับพันรูป เพราะท่านได้สาวกเพิ่มเติมจากเหล่าศิษย์ของชฎิล นั่นก็เหยียบพันเข้าไปแล้ว เหล่านี้ก็บวชเข้ามาคราวที่ชฎิลบูชาไฟทั้งสามยอมรับนับถือพระพุทธองค์ เมื่อมาประชุมกันยังเวฬุวันแล้ว พระพุทธองค์ได้ประกาศหลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาติโมกข์ ถามใครทุกคนก็ตอบได้แน่ว่าหมายถึงสามสิ่งนี้ คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เหล่านี้ไม่ผิด ถูกต้องทุกประการ แต่อาจจะไม่ครบ
จริง ๆ แล้ว โอวาทปาติโมกข์ ประกอบด้วย “หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6”
หลักการ 3 ได้แก่
“ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” สามสิ่งนี้ ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ต้องมีให้ขึ้นใจ มีให้ติดอยู่ประจำใจ
อุดมการณ์ 4 อันนี้อาจจะเป็นเรื่องของพระภิกษุเสียมาก แต่จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนในฐานะพุทธศาสนิกชนควรทำความเข้าใจและปฏิบัติ คือ
“ความอดทนอดกลั้นเป็นเครื่องเผากิเลสยิ่ง” เพราะกิเลสเล่นกับความไม่อดทนของคนคนที่ไม่อดทนต่อกิเลสคือคนที่ไหลไปตามกระแสของกิเลส ทำตามกิเลสต้องการให้ทำและสุดท้ายเราก็จะเป็นทาสของกิเลส เป็นเรื่องไม่ดีเลย
“พระนิพพานเป็นธรรมอันยิ่ง” พระนิพพานเป็นสิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะของโลกซึ่งเราควรจะเข้าถึงในสักวัน การเข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่จำคำใครเขามานั้นไม่ง่ายเลย จำเป็นที่เราจะต้องทำสามข้อแรก คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ เราจึงจะเข้าสู่กระแสของพระนิพพาน จะช้าจะเร็วนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับเราได้เข้าสู่กระแส คนโบราณนั้นก็ช่างเปรียบเทียบ ก็เหมือนลอยคอในแม่น้ำหรือทะเล ถ้าลอยไปเรื่อยแบบไม่พยายาม มันก็ไปเรื่อย แต่ถ้าลอยเข้ากระแสน้ำไหลได้มันก็ไปเร็ว กระแสน้ำจะนำพาเราไปยังจุดหมายเอง ท่านจึงเรียกว่า กระแสพระนิพพาน นั่นแหละ ขอแค่เราทำความเพียร ว่ายไปให้เข้ากระแส
“ผู้กำจัดสัตว์อื่น ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากไม่ขึ้นชื่อว่าเป็นบรรพชิต–สมณะ” บรรพชิตแปลว่า ผู้เว้นทั่ว คือเว้นจากอกุศลทั้งปวง ส่วนสมณะก็แปลว่าผู้สงบจากกิเลส ละเว้นบาปได้การเบียดเบียนทำร้ายสัตว์อื่น คืออกุศลที่ทำได้ไม่ยาก ใครเห็นก็รู้ว่านี่เบียดเบียนรึไม่เบียดเบียน ถ้ายังจะเบียดเบียนสัตว์โลกได้ เป็นบรรพชิตที่ดีนี่คงจะยาก
วิธีการ 6 ได้แก่
“การไม่พูดร้าย” คือ พูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดไม่ดี ไม่ควรทำ
“การไม่ทำร้าย” อันนี้ก็ชัดเจนในตัว
“การสำรวมในปาติโมกข์” คือการสำรวมในกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างของพระสงฆ์ก็มีพระปาติโมกข์ 227 ข้อ สำหรับคนธรรมดา ศีลห้าก็คือปาติโมกข์ของเราที่ต้องจำและทำอยู่เป็นนิจ
“ประมาณในการบริโภค” กินมากไปก็ไม่ดี ไม่ต้องพูดถึงเรื่องทางธรรมหรอก กินมากไปก็อ้วน อ้วนเสร็จแล้วโรคต่าง ๆ ก็ถามหา แต่ถ้าตีความกว้าง ๆ การประมาณในการบริโภค ก็ควรหมายถึงการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคสิ่งต่าง ๆ อย่างพอประมาณ ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่มากไปก็ชัดเจนในตัว ส่วนไม่น้อยไป ถ้าบริโภคน้อยไป มันไม่อิ่มก็ยังหิวอยู่ แทนที่จะดี ทรมานไปอีก เป็นทุกข์อีก นั่นก็คือไม่พอประมาณ ไม่พอดี
“นั่งนอนในที่สงัด” คนเป็นนักบวช ก็ควรอยู่ในที่เงียบสงัด ถามว่าทำไมต้องเงียบสงัดด้วย เพราะว่าเงียบช่วยให้เราเห็นตนเองได้ชัดเจนขึ้น เป้าหมายของพุทธศาสนาคือการเห็นความจริงในตนเอง
“ความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง” คือการทำจิตให้มีคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป้าหมายหลักของพุทธศาสนาขึ้นกัคุณภาพของดวงจิต ยิ่งมีคุณภาพก็ยิ่งมีศักยภาพจะมองเห็นความจริงในตนเอง สามารถที่จะเผชิญกับความจริงในโลกได้ เราทุกคนจึงควรพัฒนาจิตใจของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
อันนี้ก็คือสาระสำคัญของวันมาฆบูชา ถามว่าทำไมจึงสำคัญ อันนี้แหละสำคัญ เพราะเป็นอุดมการณ์หลักของพุทธศาสนาที่เราชาวพุทธควรจำขึ้นใจ ให้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวพุทธอันแท้จริง ขอเจริญพร