เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน มีสำนวนไทยสำนวนหนึ่ง เรียกผู้ชายจำพวกหนึ่งว่าชายสามโบสถ์ ชายสามโบสถ์นี้หมายถึงชายที่บวชแล้วสึกถึงสามหน โบราณมองว่าคนเช่นนี้ควรระวัง ไม่ควรคบหา เพราะมีจิตใจโลเลไม่มั่นคง แต่ก่อนการบวชนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นใจ มั่นคงในศรัทธา พร้อมจะพลีกายอุทิศวัตรปฏิบัติของตนเป็นพุทธบูชาด้วยต้องละทิ้งชีวิตฆราวาสมาเป็นนักบวช ถือพระปาติโมกข์เป็นกฎเหล็กแห่งชีวิต ถ้าบวชแล้วบวชอีก บวชแล้วสึกวนไป เขามองว่าใจไม่มั่นคง
แต่ที่อาตมาเจอมานี้ จะเรียกว่าชายสามโบสถ์ก็น่าจะใกล้เคียง เพราะแม้บวชมาแค่ครั้งเดียว แต่ก็เปลี่ยนวัดมาถึงสามหน นั่นคือ พระครูต้อม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อมนั่นเอง
พระครูต้อม หรือพระครูสังฆรักษ์พงษ์ดนัย ได้เข้ามาอยู่ที่วัดไผ่ล้อม โดยเป็นวัดที่สามในชีวิตพระ แล้วสองวัดแรกล่ะ เกิดอะไรขึ้น พระต้อมบวชวัดแรก บวชไปบวชมา เจ้าอาวาสให้ไล่ออกจากวัด ข้อหาขี้เกียจ ไม่ปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ลงทำวัตรสวดมนต์ เอาแต่นอน จึงต้องย้ายวัด พอย้ายแล้วก็เป็นเหมือนเดิม ก็ยังขี้เกียจอยู่แบบเดิม ผลที่ตามมาก็เหมือนเดิมอีกเช่นกัน เจ้าอาวาสวัดที่สองไล่ออกจากวัด ทนความประพฤติไม่ได้
สุดท้ายเลยมายังวัดที่สาม คือ วัดไผ่ล้อม กลายเป็นพระสามโบสถ์เข้าจริง ๆ
ถ้าชายสามโบสถ์คือคนโลเล ไม่ควรคบ พระสามโบสถ์ก็คงคล้ายกัน คือใครรู้เข้าก็ต้องตั้งคำถามว่าพระรูปนี้เป็นอะไร ทำไมต้องย้ายวัดถึงสามหน จะตามอุปัชฌาย์หรือให้ไปมีตำแหน่งอะไรวัดอื่นก็ไม่ใช่ เรื่องนี้อาตมาก็สงสัย จึงซักประวัติ พอซักเข้าก็รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงตามที่เล่ามา
ถ้ารู้แบบนี้ สมมติว่าญาติโยมผู้อ่านเป็นเจ้าอาวาส ก็คงจะคิดหนักว่าจะทำอย่างไรดี ในเมื่อมีประวัติขนาดนี้
แต่อาตมามีวิธี!
เมื่อรับพระต้อมเข้ามาอยู่ในวัดแล้ว อาตมาก็มอบหมายหน้าที่ให้พระต้อมทันที ไม่ต้องลงสวดมนต์ทำวัตรเลย แต่ให้กวาดวัด หน้าโบสถ์ และที่สำคัญคือ ให้คอยเช็คชื่อพระสงฆ์ที่ลงทำวัตร ใครมา ใครไม่มา เช็คให้เรียบร้อย ดูแลความเรียบร้อยในการทำวัตร
พระต้อมก็ทำหน้าที่ของตนไป ปรากฏว่าพระต้อมทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี ดีจนมีเรื่องกับพระลูกวัดรูปอื่น คือ เกิดหมั่นไส้ ต่อยพระต้อมเสียจนฟันหัก พระต้อมเองก็เกิดความน้อยใจขึ้นมา อาตมาเลยปลอบว่า ทำดีแล้วก็ให้ทำดีต่อไป การทำตามหน้าที่คือการทำดีอย่างหนึ่ง เมื่อทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ นั่นแหละดีแล้วไม่จำเป็นต้องเสียใจ หรือน้อยใจอะไร
ความประพฤติของพระต้อมดีขึ้นเป็นลำดับ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ อาตมาจึงพบว่าคนเราปรับปรุงตนเองได้ อาตมาก็สามารถแก้ไขคนได้ ถือเป็นความสำเร็จทั้งของพระต้อมและอาตมาเอง ในเมื่อ ความขยัน กับความอดทนนั้น มีไม่พอ เราก็ต้องเสริม และเสริมอย่างมีวิธี ต้องมีเทคนิคซึ่งไม่ใช่การดุด่า หรือการสั่งให้ทำอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้ทำ ถ้าอาตมาสั่งให้ต้องลงทำวัตร สวดมนต์ สั่ง ๆๆๆ ถ้าไม่ทำก็ด่าๆๆๆ อันนี้อาตมาคิดว่าเขาจะยิ่งไม่ทำ ก็จะยังเป็นคนขาดความรับผิดชอบ แต่ถ้าให้ทำอย่างอื่น ให้รู้ว่าเขาทำได้ สามารถมีความรับผิดชอบได้ ก็ทำให้เกิดความภูมิใจในตนเองว่าฉันทำได้ เมื่อภูมิใจในตนเองได้ ก็จะมีแรงใจไปทำอย่างอื่นได้สำเร็จ และพระต้อมทำสำเร็จ พฤติกรรมของพระต้อมดีขึ้นเป็นลำดับ กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบอย่างดี จนอาตมาไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสมุห์ และล่าสุดก็ได้เป็นพระครูสังฆรักษ์ นับเป็นผลแห่งการพัฒนาตนเองโดยแท้
จากเรื่องนี้ อาตมาก็ยังคงเน้นย้ำถึงเรื่องการพัฒนาตนเองเช่นเคย ว่า คนเราสามารถพัฒนาตนเองได้ ในเมื่อคนเรา มีพวกที่เคยดี แล้วกลับเป็นไม่ดีได้ คนที่ไม่ดี หรือมีความบกพร่อง ก็พัฒนาให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน ขอแค่มีใจที่เปิดรับการพัฒนา เหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว น้ำที่ไม่เต็มแก้วนั้นย่อมใส่น้ำเพิ่มไปอีกได้
คนที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่น้ำเต็มแก้ว เพราะน้ำที่เต็มแก้วย่อมไม่รับน้ำที่เทเข้าไปใหม่ ถึงเทไปมันก็จะล้นออกมา ไม่มีทางที่น้ำซึ่งเราเทลงไปจะเข้าไปได้
สิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนาคน คือ ต้องมีคนสนับสนุนที่ชักนำพาไปให้ดีขึ้น เพราะกำลังคนแค่หนึ่งคน คือ ตัวผู้พัฒนา อาจจะไม่พอที่จะสู้กับกิเลส กับสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาตนเองได้ ฉะนั้น คนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม จึงสำคัญมาก
อาตมาเชื่อว่าเราทุกคนทำได้ ทั้งการพัฒนาตนเอง และการสนับสนุนคนอื่นให้พัฒนาตนเอง เพราะการพัฒนาตนเองคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำให้เราทำอยู่เสมอ อย่าทำตนให้ไหลไปดุจน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่จงทำให้ดีขึ้นไป เพราะผลดีต่าง ๆ ทั้งทางโลก และทางธรรม ย่อมได้มาจากการพัฒนาตนเอง ขอเจริญพร