เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 3 ก.พ.2566 ที่หอประชุมโรงเรียนประจวบวิทยาลัย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเดชา ศิริพิบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนประจวบวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิด การจัดกิจกรรมอบรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ตามโครงการบริการประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่เขต 5 ราชบุรี ซึ่งจัดโดย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบฯ ในนามหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ( สอบ.) ร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี และสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก โดยมี น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบฯ นำเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯร่วมให้ความรู้ และมี นางมณฑา ขนเม่น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นวิทยากร มี คณาจารย์ และ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวนกว่า 400 คน เข้าร่วม
น.ส.ธนพร บางบัวงาม กล่าวว่า ศูนย์ฯหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนจังหวัดประจวบฯ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) ในพื้นที่ เขต 5 ราชบุรี ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และ สุพรรณบุรี เกาะติดสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น และดำเนินงานเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูงในเด็กและเยาวชน ช่วงอายุระหว่าง 6 -18 ปี มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการบริการประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่เขต 5 ราชบุรี
ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพ และค้นหาภาวะเสี่ยงต่อพฤติกรรมบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในกลุ่มเด็กโตอายุระหว่าง 6 ปี – 18 ปี สร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในกลุ่มเด็กโต โดยการดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษา ซึ่งในส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กำหนดกลุ่มนักเรียนเป้าหมายเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประจวบวิทยาลัย เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เปรียบเทียบเกณฑ์อ้างอิงของประเทศให้กับนักเรียน ตลอดจนจัดกระบวนการเรียนรู้ ในการให้ความรู้ ให้คำปรึกษารวมทั้งสาธิตการคำนวนน้ำตาล คำนวณเกลือ จากข้อมูลโภชนาการในฉลากขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเทียบข้อมูลเกณฑ์ค่าสีของฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเชื่อมโยงให้นักเรียนเห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคที่อาจนำมาสู่การป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยเก็บข้อมูลก่อนและหลังดำเนินงานเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภค
ทั้งนี้ ผลการประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เปรียบเทียบเกณฑ์อ้างอิงของประเทศให้กับนักเรียน มีการดำเนินงานประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการใน 2 ช่วง ช่วงแรกก่อนเริ่มดำเนินการ ให้ความรู้ให้คำปรึกษา รวมทั้งสาธิตการคำนวนน้ำตาล คำนวณเกลือ จากข้อมูลโภชนาการในฉลากขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเทียบข้อมูลเกณฑ์ค่าสีของฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรเพื่อเชื่อมโยงให้นักเรียนเห็น
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับนั้น 1.นักเรียนเกิดแนวปฏิบัติในการลดพฤติกรรมที่เสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่อการเป็นโรคต่างๆ ด้วยตนเอง 2.นักเรียนเกิดพฤติกรรมการอ่านฉลากอาหารก่อนซื้อมาบริโภคทุกครั้ง 3.เกิดการบรรจุการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในนโนบายของโรงเรียนหรือชุมชน 4.เกิดนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
5.เกิดการขยายผลต่อไปในระดับโรงเรียน หรือชุมชน 6.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญแล้วออกเป็นมาตรการฉลาดโภชนาการสีสัญญาณไฟจราจร 7.นักเรียนเกิดพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวลดลงและบริโภคผักผลไม้มากขึ้น 8.มีเครือข่ายแบบมีส่วนร่วม 9.เกิดการพัฒนารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 10.เกิดการสร้างเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมโดยใช้การบูรณาการพัฒนารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 11.เกิดการขยายผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง /////////