เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 ธ.ค.65 ที่ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ของนางสาวบุญส่ง ปานนก หมู่ที่ 8 บ้านหนองแก ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอเมืองประจวบฯ เป็นประธานเปิดงานวันดินโลก(World Soil Day) ปี 2565 ของอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “Great food from good soil for better life awareness week” หรือ ดินดี อาหารดี ชีวีมีสุข โดยมี นางพิสมัย ศักดิ์เกิด พัฒนาการอำเภอเมืองฯ กล่าวรายงาน มี นายดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัด นายสุวิทย์ เยื่อใย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก นางอุราวรรณ ภู่เพ็ชร์ เกษตรอำเภอเมืองฯ นายธนะกิจ แทนคุณ ปลัด อบต.เกาะหลัก พระใบฎีกาสิทธิศักดิ์ ปิยธมฺโม วัดเกาะหลัก พระอารามหลวง นายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิง ก่อนบ่าย ดาราศิลปินตลกชื่อดังซึ่งเป็นลูกหลานชาวประจวบฯ ส่วนราชการ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเคล็ด ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเกาะหลัก ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน เข้าร่วม
นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอเมืองประจวบฯ กล่าวว่า พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักในเรื่องการแก้ไขปัญหา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ดิน ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกาศเป็นปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ และพระราชปณิธาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงช่วยทำให้แผ่นดินไทยเป็น “แผ่นดินทอง” อันเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่พี่น้องประชาชนอยู่ด้วยความสุข ความรัก ความสามัคคี ความมีน้ำจิตน้ำใจซึ่งกันและกัน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานดังกล่าว จึงขอประกาศเจตนารมณ์ว่า “ข้าพเจ้า จะสืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาดินอย่างยั่งยืน ข้าพเจ้า จะรักษาความอุดมสมบูรณ์แห่งดิน เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่มีคุณภาพ ข้าพเจ้า จะต่อยอด ขยายผลขับเคลื่อนเครือข่ายพลังเผ่นดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน“
นางพิสมัย ศักดิ์เกิด พัฒนาการอำเภอเมืองฯ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก ด้วยซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการดิน และแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วสากลว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และเป็นวิถีที่นำไปสู่ความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร และการขจัดความอดอยากหิวโหย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การจัดงานวันดินโลกครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องวันดินโลก ให้แก่ประชาชน และภาคีเครือข่าย ช่วยให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน 2. เพื่อเป็นการระลึกถึง พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 3. เพื่อส่งเสริมกิจกรรม และให้ความสำคัญกับวันดินโลก
ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล แปลงครัวเรือน นางสาวบุญส่ง ปานนก นับเป็นพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ ”โคก หนอง นา โมเดล”เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ได้ทำการพลิกฟื้นผืนดินที่เคยแห้งแล้ง ขาดการบริหารจัดการพื้นที่ที่เป็นสัดส่วน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงพอตลอดทั้งปี แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และได้รับองค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ก็สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เกิดการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และใช้องค์ความรู้ในการปรับปรุงดินเพื่อพัฒนาพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ให้กลับมาเขียวขจี และสามารถเพาะปลูก พืชผัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนของตนเองได้ จึงนับได้ว่าพื้นที่แห่งนี้สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบำรุงรักษา “ดิน” ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพ ต่อทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ในหลายๆด้าน ดินเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างทางการเกษตรถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน คนไทยและประเทศไทยผูกพันกับดินเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นเมืองแห่งการเกษตรที่สำคัญระดับโลก
จากนั้น นายอำเภอ พร้อมผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ชมสาธิตการทำปุ๋ยแห้งชีวภาพ โดยมีส่วนผสม ดังนี้ อินทรีย์วัตถุ เช่นใบไม้ หญ้า ฟาง 4 ส่วนมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน รำ น้ำสะอาด + ปุ๋ยน้ำ โดยวิธีทำ เทอินทรีย์วัตถุสลับมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก จนได้ความสูงกองประมาณ 90 ซม. รดน้ำบนกองปุ๋ยทุกวัน เจาะกองปุ๋ยโดยเอาไม้แทงลงไปในกอง เพื่อเติมอากาศและน้ำเพื่อช่วยในการย่อยสลายทุก ๆ 15 วัน เจาะจุดใหม่เติมน้ำและอากาศเพิ่ม ทำทั้งหมด 6 ครั้ง ประโยชน์ของปุ๋ย คือ ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ช่วยเปลี่ยนสภาพของดินจากดินเหนียวหรือดินทรายให้เป็นดินร่วนทำให้สะดวกในการไถพรวน ช่วยสงวนรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีขึ้น ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินได้ดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีและสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ ช่วยกระตุ้นให้ธาตุอาหารพืชบางอย่างในดินที่ละลายน้ำยากให้ละลายน้ำง่ายเป็นอาหารแก่พืชได้ดีขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อดินแม้จะใช้ในปริมาณมาก ๆ ติดต่อกันนาน ๆ ช่วยปรับสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะมูลฝอยและวัชพืชน้ำทั้งหลายให้หมดไป
ต่อมา ได้ร่วมกิจกรรมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน แถวหญ้าแฝกช่วยกักเก็บตะกอนดิน ลดความแรงของน้ำที่ไหลบ่า ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในดินและพื้นที่ตอนบน ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืชจากพื้นที่ ส่วนด้านฟื้นฟูและปรับปรุงดิน จะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน รักษาความชื้นในดิน ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งและระบายอากาศของดินดี เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน
จากนั้นได้ทำ “แซนด์วิชปลา” โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารปลา และยังเป็นการบำบัดรักษาน้ำด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม สร้างอาหารปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งวิธีทำแซนวิซปลา สำหรับบ่อน้ำหรือหนองน้ำ จะทำแซนด์วิชปลาไว้ที่ริมตลิ่ง โดยใช้ลำไม้ไผ่ปักลงไปถี่ ๆ ให้เป็นวงโค้งครึ่งวงกลม หากบ่อมีขนาดใหญ่ก็ควรจะทำหลาย ๆ จุด ส่วนในพื้นที่เล็ก เช่น คลองไส้ไก่หรือคูน้ำรอบนาข้าว ก็สามารถเลี้ยงปลาได้เช่นกัน โดยใช้ไม้ไผ่เหลาแล้วสานเป็นเสวียน จากนั้นจึงนำไปปักลงไปในคลองไส้ไก่หรือคูน้ำเมื่อมีไม้ไผ่หรือเสวียนเป็นเสมือนภาชนะแล้ว จึงใส่ฟาง ผักตบชวา หรือใบไม้สุมลงไปให้มีความสูง 1 ฟุต หรือ 1 ศอก ย่ำให้แน่น ใส่ปุ๋ยคอก และรดน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ โดยทำสลับกับเป็นชั้น ๆ จนเต็มคอกหรือเสวียน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสาธิตการใช้ประโยชน์จากถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนเห็นความสำคัญของการจัดการขยะเปียก หรือ ขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ซึ่งประโยชน์ที่ได้โดยตรงประการเเรก คือ ช่วยเพิ่มปริมาณเเร่ธาตุในดินจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากกระบวนการระบบนิเวศทางธรรมชาติ หรือ ห่วงโซ่อาหาร คือ เป็นอาหารให้แก่ ผู้ย่อย เช่น แบคทีเรีย เห็ด รา ไส้เดือน ซึ่งจะผลิตเอนไซม์มาย่อยเศษอาหาร ทำให้เป็นเเร่ธาตุและสารอาหารนำกลับไปหมุนเวียนให้แก่พืชนำไปใช้////////////////// บุญมา ลิบลับ รายงาน