กระทรวงพาณิชย์ จับมือ สอท. และ ม.เกษตรศาสตร์ จัดงาน ThaiTAM 2022 (ไทยทำ 2565) ส่งเสริมสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก แถลงความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร คาดภายใน 1 ปีสร้างมูลค่ากว่า 450 ล้านบาท

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ สอท. และ ม.เกษตรศาสตร์ จัดงาน ThaiTAM 2022 (ไทยทำ 2565) ส่งเสริมสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก แถลงความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร คาดภายใน 1 ปีสร้างมูลค่ากว่า 450 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัด งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย 2565 (ThaiTAM 2022) ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เพื่อร่วมพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ขยายฐานการส่งออกแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพต่อยอดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย 2565 (ThaiTAM 2022) เป็นงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ภายในงานจะมีการแสดงเครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมกับการเกษตรเขตร้อน (Tropical Agriculture) และมีการติดต่อเจรจาธุรกิจด้านเครื่องจักรกลเกษตรของไทยเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ นับว่าเป็นการจุดประกายการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทเครื่องจักรกลเกษตรของประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ สอท. และ ม.เกษตรศาสตร์ จัดงาน ThaiTAM 2022 (ไทยทำ 2565) ส่งเสริมสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก แถลงความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร คาดภายใน 1 ปีสร้างมูลค่ากว่า 450 ล้านบาท

8 ธันวาคม 2565 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีแถลงความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และงานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย 2565 (ThaiTAM 2022) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

นายภูสิต กล่าวแถลงความสำเร็จของอุตสาหกรรมฯ และงาน ThaiTAM 2022 ในครั้งนี้ว่า “งาน ThaiTAM 2022 เป็นงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ภายในงานจะมีการแสดงเครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมกับการเกษตรเขตร้อน (Tropical Agriculture) และมีการติดต่อเจรจาธุรกิจด้านเครื่องจักรกลเกษตรของไทยเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงถึงศักยภาพในการผลิตเครื่องจักรกลของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการผลักดันการเกษตรของไทยให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย มีการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรกรรมของไทย และต่อยอดสร้างเป็นสินค้าส่งออกที่นำเงินตรามาสู่ประเทศ โดยงานนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตร ตั้งแต่ผู้ผลิตเครื่องจักรและเทคโนโลยี เกษตรกร ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 แล้ว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีการจำหน่ายปลีกระหว่างงานสำหรับผู้ซื้อและเกษตรกรไทย การสัมมนาและการเจรจาธุรกิจสำหรับผู้นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบ On-site และ Online มีผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยที่ร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน และกลุ่ม Start Up นวัตกรรมการเกษตร/ปศุสัตว์ ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน กว่า 20 ราย โดยเป็นผู้นำเข้าจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย รวันดา แซมเบีย อียิปต์ กาน่า บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปีนส์ เมียนมาร์ และลาว คาดว่าภายในงานจะมีมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี 450 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่มีการปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ได้แก่ รางวัล THE BEST ThaiTAM INNOVATION AWARDS ซึ่งเป็นที่สุดของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ในปี 2565 ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมไทยทำเพื่อสุขภาพ ( BEST ThaiTAM INNOVATION FOR HEALTH) คือ บริษัท ซีแอลพี อินเตอร์เทรด จำกัด รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมไทยทำเพื่อครอบครัว ( BEST ThaiTAM INNOVATION FOR FAMILY) คือ บริษัท มินเซน แมชีนเนอรี่ จำกัด และ รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมไทยทำเพื่อเกษตรกร (BEST ThaiTAM INNOVATION FOR FARMERS) คือ บริษัท ชลบุรีเมืองทอง จำกัด

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงาน นอกจากจะได้ชมเครื่องจักรกลการเกษตร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องพร้อมการสาธิตการทำงานจริงในแปลงแล้ว ยังมีการแสดงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการปลูกพืชสำคัญของประเทศ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ในทุกขั้นตอน เพื่อให้เด็ก เยาวชนของประเทศ และผู้ที่สนใจ มีความเข้าใจในการเกษตรแบบสมัยใหม่ และหันมาเห็นความสำคัญของการเกษตรที่เป็นหัวใจของประเทศมากขึ้น

“สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะไม่เพียงแต่ขายให้ผู้ซื้อผู้นำเข้าต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังขายให้เกษตรกรไทยด้วย เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้เกษตรกรไทยในขายสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการพัฒนา และส่งเสริมสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก พร้อมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรได้อีกทาง ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ” นายภูสิต กล่าวเพิ่มเติม

************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
8 ธันวาคม 2565