รอง ผวจ.ประจวบเปิดเวทีสมัชชาเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต พร้อมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมสร้าง “ประจวบคีรีขันธ์ เมืองสังคมแห่งการสุจริต”

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.ย.65 ที่ห้องสิงขร โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประธานเปิดงานเวทีสมัชชาเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบฯ และนำส่วนราชการ-หน่วยงาน พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมในการสร้าง “ประจวบคีรีขันธ์ เมืองสังคมแห่งการสุจริต” โดยมี นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรขุมชนจังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และมี นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตฯของภาคประชาชน

โดยมี นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พอช. (องค์การมหาชน) นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก พอช. น.ส.ปภรดา เขียวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 น.ส.จุฑารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ นางวรรณา ศรีจุฬางกูล รองนายกเทศมนตรีเมืองฯ นายโกสิทธิ์ สว่างอัมพร หัวหน้าฝ่ายบริหารฯ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายภาคประชาชน สภาเด็กและเยาวชนฯ และนักเรียน เข้าร่วม  

จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นสักขีพยานในพิธีมอบป้ายโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการบ้านพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2565 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ ผู้แทนตำบลในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ทั้ง 26 ตำบล โดยให้เงินซ่อมแซมบ้านเรือน จำนวน 367 ครัวเรือน เป็นเงินจำนวน 7,134,000 บาท  ต่อมาได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต” ผู้เข้าร่วมมี นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายสิน สื่อสวน ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตฯ น.ส.ปภรดา เขียวประดิษฐ์ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 นางวรรณา ศรีจุฬางกูล รองนายกเทศมนตรีเมืองฯ และ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนฯ  

จากนั้น ได้มีพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมในการสร้าง “ประจวบคีรีขันธ์ เมืองสังคมแห่งความสุจริต” ผู้ร่วมลงนาม ได้แก่ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผอ.ภาคกลางและตะวันตก พอช. น.ส.ปภรดา เขียวประดิษฐ์ สำนักงาน ปปท.เขต 7 นางสาวจุทารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดฯ นายโกสิทธิ์ สว่างอัมพร สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดฯ นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดฯ ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดฯ  

ต่อมา นายภัทรดนัย สมศรี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแสงอรุณ อ.ทับสะแก พร้อมผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในทั้ง 8 อำเภอ ร่วมอ่านแถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบฯ ใจความว่า “พวกเราชาวประจวบคีรีขันธ์ ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราจะยึดมั่นในสถาบันหลัก ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จะประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จะยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่กระทำการอันเป็นการโกงชาติและแผ่นดิน จะไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ และร่วมกันสร้างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นเมืองสังคมแห่งความสุจริต  ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565” และได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยข้อเสนอมีดังนี้

1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต มีความจริงจังต่อการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษผู้กระทำผิด โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจและอิทธิพลต่างๆ

2.ให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งบรรจุหลักสูตรการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในสถาบันการศึกษา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมให้แก่เด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ

3.ให้หน่วยงานในจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด บรรจุแผนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในแผนพัฒนาของหน่วยงาน เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง

4.ให้หน่วยงานในจังหวัด เปิดโอกาสให้มีผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบฯ เข้าไปเป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดประจวบฯ ในสัดส่วนของผู้แทนภาคประชาสังคม

5.ในการดำเนินโครงการของหน่วยงานท้องถิ่น ขอให้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนฯระดับตำบล เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ เพื่อสร้างระบบเปิดเผยและโปร่งใสในการทำงาน

6.ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานของภาคประชาชน และขยายกลไกให้เต็มพื้นที่ 

7.ให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการสอดส่อง เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง

8.ให้รัฐบาลมีมาตรการในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต พยานบุคคล และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลในการแจ้งเบาะแส

ด้าน นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดฯ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ในการเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของกิจกรรม BIG ROCK ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประซาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ทั้งนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 17 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Big Rock) โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ซึ่งมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 8 อำเภอ 24 ตำบล การจัดเวทีในวันนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “การสร้างสังคมสุจริต และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ”

ด้าน นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า จากคำกล่าวรายงาน จะเห็นได้ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 17 จังหวัด ขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Big Rock) ในปี 2565 โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ซึ่งมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่างๆ เป็นงบประมาณของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนทุกคน ทั้งยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้มีสำนึกพลเมือง เพื่อสร้างสังคมสุจริต และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ นับเป็นวันดีที่ได้มาร่วมในเวทีสมัชชาเครือข่ายภาคประชาชน ในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นการส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชนในการเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และขอให้การดำเนินการเวทีในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ด้าน นายทวีศักดิ์ จุลเนียม กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต เป็นการรวมกลุ่มของประชาชน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการโยงกลุ่มองค์กรต่างในพื้นที่ เพื่อมาเป็นกลไกหลักในการสอดส่อง เฝ้าระวัง ป้องกัน และต่อต้านการทุจริต โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1. สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต 2.สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยและโปร่งใสให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการการใช้งบประมาณ 3. สร้างธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน 4. การปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่เน้นบทบาทการเฝ้าระวังป้องกัน และต่อต้านการทุจริต  โดยกิจกรรมรูปธรรมที่มีการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างช่องทางการแจ้งเบาะแสผ่าน QR CODE ตู้โวยวาย เป็นต้น และกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่///////////