ที่ อบจ.สุพรรณบุรี ได้มีการประชุมหารือและการเสวนาเรื่องการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. โดยมี นพ.วงรงค์ รุ่งเรือง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการสนับสนุนการบริหารภารกิจถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รองศาสตาจารย์ ดร.ธนพร ศรียางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคระกรรมการกระจายอำนาจฯ เป็นวิทยากร
นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นาย อบจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการถ่ายโอนภารกิจ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์สุขภาพดำเนินการตามภารกิจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและบำบัดโรค และรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยในระยะแรกให้ถ่ายโอนตามความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และระยะสุดท้าย หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ไม่พร้อมรับการถ่ายโอนก็ให้ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด นั้น
เพื่อให้การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการทางด้านสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี จึงแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี
ประกอบด้วย นายวรงค์ รุ่งเรือง อดีต นพ.สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานที่ปรึกษาสาธารณสุขอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ,รพ.ประจำอำเภอ, ประธานชรมรม รพ.สต., ผอ.รพ. เป็นที่ปรึกษา โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนการถ่ายโอนฯ ประกอบด้วย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าคณะทำงานฯ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ,หัวหน้าสำนักปลัด อบจ.สุพรรณบุรี,เลขานุการ อบจ.,ผู้อำนวยการกองคลัง,ผู้อำนวยการกองช่าง,ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เป็นคณะทำงานฯ
นายบุญชู กล่าวต่อว่า ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งจังหวัดจะก่อให้เกิดการพลิกโฉมระบบสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่จังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตามกรอบแนวคิดรากฐานของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์(The “Building Blocks” Framework) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมี 6 องค์ประกอบ คือ (1) การให้บริการ (2) บุคลากร (3)ระบบข้อมูล (4) การเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น (5) การเงิน และ (6) ภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลโดยระบบสุขภาพปฐมภูมิขององค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องเอื้อต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน (Accessibility)ความครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม (Coverage) คุณภาพในการให้บริการ (Quality) และความปลอดภัย (Safety) และมีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ คือ ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ทำให้สุขภาพประชากรในภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน