ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้อง Blue Whale โรงแรมแอทที บูทีค คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เป็นประธานกล่าวต้อนรับ และชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเปิดเวทีนำเสนอผลงาน บทเรียนสำคัญในการทำงานคุ้มครองสิทธิ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของแต่ละภาค/จังหวัด ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานกลไกเขตพื้นที่ทั้ง 5 ภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค โดยมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค เจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภคใน 13 จังหวัด เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ในทั้ง 5 ภาค และทีมงานเจ้าหน้าที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เข้าร่วม
ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาผู้บริโภคจังหวัดประจวบฯ นายเกตุ พราหมณี นายกสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของสภาผู้บริโภคจังหวัด สมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ประกอบด้วย ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอทั้ง 8 อำเภอ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตำบล 4 ตำบล
จากนั้น ได้มีการแสดงเพลงฉ่อยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดย เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม และเครือข่ายเยาวชนดนตรีวิถีคนแม่กลอง และการนำเสนอแนวคิดและผลการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคใน 8 จังหวัดภาคตะวันตก โดย หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก และเวทีเสวนารูปธรรมความร่วมมือภาครัฐกับองค์กรผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนการจัดการข้อร้องเรียน และพัฒนาข้อเสนอแนะนโยบาย กรณีศึกษาของหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงสร้างสภาผู้บริโภคจังหวัด ขอบเขตและบทบาทหน้าที่ของตัวแทนหน่วยงานรัฐกับผู้เชี่ยวชาญ บทบาทสภาผู้บริโภคจังหวัดในการสนับสนุนการจัดการข้อร้องเรียน ไกล่เกลี่ยและดำเนินคดีกับการผลักดันเรื่องร้องเรียนสู่นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาผู้บริโภคจังหวัดประจวบฯ นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย นายทวีศักดิ์ เบญจธิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ นายชัยพฤกษ์ มั่งคั่ง ทนายประจำหน่วยฯ นางสาวธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค มี นางสาวปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิชาการหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากนั้น ได้มีเวทีแลกเปลี่ยน ในการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียน ประสบการณ์และบทเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รูปแบบและกระบวนการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียน การเจรจาไกล่เกลี่ย การฟ้องคดี ระบบฐานข้อมูล CRM ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และความท้าทาย กรณีตัวอย่าง “โหนกระแส แชร์เคส” โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ) โดยต่อมา ได้ร่วมระดมความเห็นต่อข้อเสนอ และแนวทางการดำเนินงานจัดการเรื่องร้องเรียน แยกตามกลไกการทำงาน มีทั้งข้อเสนอต่อสภากลาง (สำนักงานเลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค) และข้อเสนอต่อหน่วยงานประจำจังหวัด สภาฯของผู้บริโภค ในทั้ง 5 เรื่อง ดังนี้ 1.ระบบฐานข้อมูล CRM (กลยุทธิ์การบริหารความสัมพันธ์กับองค์กร) 2. การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล 3. การจัดการเคสร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ 4. การส่งต่อเรื่องร้องเรียนเพื่อดำเนินคดี 5. กลไกความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน โดยมีพันธกิจ ที่จะคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคทุกคน ในปัญหาทุกด้าน อีกทั้งเสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนองค์กรสมาชิก องค์กรของผู้บริโภค และผู้บริโภคทั่วไปให้รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ นอกจากนี้เพื่อสร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหา เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค มีตัวแทนผู้บริโภคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้ผู้บริโภคก่อนถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้บริโภคอันยาวนานกว่า 24 ปีผ่านไป ในที่สุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ขึ้น จากนั้น จึงมีการประชุมสมาชิกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคถือเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรงในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 “สภาองค์กรของผู้บริโภค” จึงถือเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงเคียงคู่ผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน “เพราะทุกคนคือผู้บริโภค”
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ ทั้งนี้ มีการบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยมาตรา 46 ระบุให้องค์กรของผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร ที่ผ่านการจดแจ้งจาก สปน.รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ทำหน้าที่เสนอนโยบายและมาตรการให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และเพื่อรวมพลังของสมาชิกในการคุ้มครองผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ ความกังวลแบบผิด ๆ ในอดีตที่มองว่า หากคุ้มครองผู้บริโภคมาก จะทำให้บริษัทยากลำบากคงไม่เป็นจริง จากประสบการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ พบว่า นโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐสภายุโรปและขององค์กรผู้บริโภคสอดคล้องหรือตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะต่างก็เชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ดังนั้น ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่าง ๆของผู้บริโภค เช่น ค่าทางด่วน ค่าโทลล์เวย์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าราคาแพง หรือข้อเสนอใหม่ ๆที่ดีสำหรับผู้บริโภค เช่น ถนนปลอดภัย ทางม้าลายปลอดภัย อาหารปลอดภัย ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หรือขนส่งมวลชนราคาไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เหล่านี้ นอกจากจะเป็นพันธกิจของสภาฯแล้ว หน่วยงานรัฐย่อมจะต้องมีจุดยืนเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน ทุกคน หวังว่าข้อเสนอนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาฯ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพราะทุกคนคือผู้บริโภค
ทั้งนี้ หากท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ เช่น ถูกหลอกจากการซื้อของ ออนไลน์ หลงกู้ เงินจากแอปเถื่อน ถูกริบเงินดาวน์จากการ จองคอนโด ท่านสามารถ แจ้งเบาะแส ร้องเรียนมาได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค แบบเบ็ดเสร็จ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เบอร์โทรด่วน 0-2239-1839 หรือที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/ //////////