เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. นายศรีธรรม ราชแก้ว นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี มอบหมายให้นายจิตรติ รามเนตร ปลัดอาวุโส ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามแก้ไขปัญหาการกลบปิดคูน้ำสาธารณะ พื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ร่วมด้วยนายวิรัตน์ คำหอมกุล นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์พระยา, นายไชยยา แก้วมณี นิติกรฯ, นายสราวุธ สิงห์ดวง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโพธิ์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
ซึ่งรับทราบว่าคูน้ำสาธารณะดังกล่าวใช้ประโยชน์ร่วมกันมากว่า 30 ปี เป็นเส้นทางน้ำผ่านสำหรับพื้นที่เกษตรกรรม เชื่อมต่อจากหมู่ที่ 6 ตำบลพิหารแดง ไปยังหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ระยะทางรวมกว่า 800 เมตร แต่หลายปีที่ผ่านมาถูกกลบปิดสิ้นสภาพคูน้ำ (อาจดำเนินการโดยเจ้าของที่ดิน หรือผู้เช่านา) ทำให้เกษตรกรที่อยู่ปลายน้ำได้รับผลกระทบโดยตรง … ในเบื้องต้นได้ดำเนินการตรวจสอบและเจรจาบันทึกถ้อยคำกับเจ้าของที่ดินที่คูน้ำนี้ไหลผ่าน จำนวน 6 ราย เรียบร้อยแล้ว โดยทั้งหมดพร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการ (มีทั้งที่เป็นราษฎรในพื้นที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรีเองทั้งสองตำบล และอยู่ที่จังหวัดอื่นเนื่องจากการซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครองโดยไม่ทราบประวัติความเป็นมาของที่ดิน)
อย่างไรก็ตามจากการเจรจา (ไม่พร้อมกัน) ทุกรายประสงค์ที่จะให้ทางราชการดำเนินการแก้ไขในแนวทางเดียวกันทั้งสายทาง และมีประเด็นขอให้พิจารณาเรื่องระยะเวลาที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในเร็ววัน เนื่องจากข้าวที่เพาะปลูกไว้ใกล้ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับหากเก็บเกี่ยวแล้วพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็จะเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน (น้ำท่วมขัง) ตามลักษณะภูมิประเทศปกติ ทั้งนี้ ประเมินว่าภายในเดือนมกราคม 2566 เมื่อน้ำแห้งจากพื้นที่จะเร่งคืนสภาพคูน้ำดังเดิมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ฯลฯ … อำเภอเมืองสุพรรณบุรีจึงได้กำหนดนัดหมายเจ้าของที่ดินข้างต้นทุกราย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือกำหนดแนวทางการปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาที่เหมาะสม ฯลฯ ในวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี … โดยการดำเนินการนี้จะนำเข้าที่ประชุมประชาคมหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโพธิ์ให้ได้รับทราบและพิจารณาร่วมกันในฐานะพลเมืองที่ใช้ประโยชน์จากคูน้ำสาธารณะแห่งนี้
ทั้งนี้ อำเภอเมืองสุพรรณบุรีตระหนักถึงการดำเนินการตามระเบียบ/กฎหมาย ในการปกปักรักษา คุ้มครอง ป้องกันและดูแลที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกแห่ง โดยดำเนินการด้วยการพิจารณาถึงหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ภายใต้เจตนารมณ์ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พี่น้องประชาชน