AIS – WMS ผนึกกำลัง ไทยลีก ยกระดับวงการฟุตบอลไทย สู่ Green ไทยลีก เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างการมีส่วนร่วม สานต่อภารกิจ “แฟนบอลไทยไร้ E-Waste”

หลังจากที่ AIS ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ ไทยลีก ยกระดับวงการฟุตบอลไทยไปอีกขั้น ด้วยการถ่ายทอดสดศึกไทยลีกในฤดูกาล 2021-2022 ให้แฟนบอลชาวไทยสามารถชม เชียร์ ทีมที่รักแบบจุใจเต็มอิ่มบน AIS PLAY แล้ว ครั้งนี้AIS ขออาสาลุกขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทยอีกครั้ง ให้ไทยลีกกลายเป็นการแข่งขันที่ยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของแฟนบอลชาวไทยทั่วประเทศโดยความร่วมมือระหว่างไทยลีกผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของไทย และบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด หรือ WMS ผู้นำด้านการจัดการของเสียทุกประเภทอย่างครบวงจร มาร่วมยกระดับสู่การเป็น Green ไทยลีก นำร่องโครงการ แฟนบอลไทยไร้ E-Waste ชวนทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับ AIS เพื่อนำไปผลิตเป็นเหรียญจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกของวงการกีฬาไทย สำหรับรางวัลเกียรติยศมอบให้กับสโมสรที่มีหัวใจรักษ์โลก ก่อนจะขยายผลไปสู่กิจกรรมความยั่งยืนด้านอื่นๆ ในขั้นตอนต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานวงการฟุตบอลไทยสู่การแข่งขันที่ยั่งยืน


นายปรัธนา
ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่าจากการที่ AIS เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงการฟุตบอลไทยในปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นถึงพลังของแฟนบอลในการเชียร์ทีมและนักเตะในดวงใจ รวมถึงความตั้งใจของทุกสโมสรและนักกีฬาทุกคนที่ทุ่มเทให้กับทุกการแข่งขัน ดังนั้นวันนี้เมื่อสถานการณ์โลกให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เราจึงขอร่วมเชิญชวนวงการฟุตบอลไทยให้ก้าวไปสู่อีกหนึ่งมาตรฐานใหม่ของการแข่งขันพร้อมๆกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการขยายผลโครงการคนไทยไร้ E-Waste ไปยังกลุ่มแฟนบอลให้มีส่วนร่วมในการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับ AIS ซึ่งได้กระจายจุดรับไปยังสนามของทุกสโมสร เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ตามเป้าหมายแบบ Zero Landfill ที่นำแร่ธาตุที่ได้หลังจากรีไซเคิล อาทิ เงิน ทองคำ มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำเหรียญรางวัล E-Waste ในฐานะเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์เหรียญแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน มีความเรียบง่าย สวยงาม  ผ่านขั้นตอนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน เพื่อมอบเป็นรางวัลเกียรติยศในการแข่งขันฟุตบอล รายการ รีโว่ ไทยลีกฤดูกาล 2021/22”

โดยครั้งนี้เราทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์คนสำคัญทั้ง ไทยลีก ที่ต้องการผลักดันแนวคิดGreen ไทยลีก ไปยังการแข่งขัน นักกีฬา สโมสร และแฟนบอล รวมถึง WMS บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะซึ่งทำงานร่วมกับโครงการคนไทยไร้ E-Waste อย่างต่อเนื่อง และได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล พร้อมนำวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการผลิตเหรียญรางวัลเกียรติยศดังกล่าว จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับวงการฟุตบอลไทยสู่การเดินหน้าอย่างยั่งยืน จากการมีส่วนร่วมของแฟนบอล และ ชุมชน โดย AIS พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างวงการฟุตบอลไทยในทุกมิติ ไม่เพียงการสานต่อภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงการนำ Digital Service และศักยภาพของโครงข่ายอัจฉริยะ 5G เข้ามายกระดับการแข่งขันตามเป้าหมาย Green ไทยลีก ในก้าวต่อๆ ไป

ด้าน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัดกล่าวว่านอกจากเป้าหมายในการยกระดับวงการฟุตบอลไทย ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงการจัดแข่งขันให้มีมาตรฐานระดับสากลเท่านั้น แต่เรายังต้องการให้ไทยลีก เป็นลีกสูงสุดชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในทุกด้าน โดยเฉพาะการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ผ่านการมีส่วนร่วม ระหว่างสโมสร นักกีฬา แฟนบอล สปอนเซอร์ และพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ โดยวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เราและ AIS ได้ร่วมกันขยายผลความร่วมมือจากพันธมิตรที่ร่วมส่งต่อการแข่งขันสู่สายตาคนไทย มาสู่การร่วมสร้างความตระหนักกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกิจกรรมเชิญชวนแฟนบอลในไทยลีก 1 ให้มาร่วมกันทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จุดรับทิ้งบริเวณหน้าสนามแข่งขัน ที่เป็นรังเหย้าของสโมสรในศึกรีโว่ ไทยลีก ทั้ง 16 แห่ง เพื่อระดมเอาขยะที่ได้มารีไซเคิลและสร้างเป็นเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์เหรียญแรกของประเทศไทยที่ผลิตจากวัตถุดิบที่รีไซเคิล จาก E-Waste  จำนวน 2 เหรียญ  ที่จะมอบเป็นรางวัลเกียรติยศให้กับสโมสรที่การแข่งขันฟุตบอลรายการ รีโว่ ไทยลีก ฤดูกาล 2021/22 นี้

เราเชื่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นสำคัญ ในการดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักกันการแข่งขันแบบ Green ไทยลีกร่วมกัน เราเชื่อว่าการสะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปยังสโมสร แฟนบอล และนักกีฬา จะช่วยทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญ และตื่นตัวในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน โดยเราพร้อมเดินหน้าขยายความตั้งใจนี้ไปยังบริบทอื่นๆ ของการจัดการแข่งขัน เพื่อให้ไทยลีกเป็น Green ไทยลีกที่เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

ทางด้าน นายฮิโรมิตสึ ทาคากิ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยามจำกัด อธิบายเสริมว่าจากการทำงานร่วมกับ AIS ในการนำขยะ E-Waste เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้องแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ถือว่าสอดคล้องกับความตั้งใจของเราที่ต้องการกำจัดขยะทุกประเภทให้ถูกต้องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เรารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง AIS และไทยลีกในครั้งนี้ เพราะจะเป็นการทำให้เห็นถึงประโยชน์ของการรีไซเคิลที่สามารถนำทุกส่วนของขยะกลับมาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นได้อีกครั้ง สำหรับ เหรียญรางวัลจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ได้จาก E-Waste โดยโรงงาน DOWA ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ ได้ส่งแร่ธาตุคือ เงิน และ ทอง ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหรียญเกียรติยศ ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับการผลิตเหรียญรางวัลที่ใช้ในมหกรรมกีฬาระดับโลก อีกทั้งตัวเหรียญจะบรรจุอยู่ในกล่องที่ผลิตจากวัสดุกระดาษลูกฟูก ผสมกระดาษรังผึ้ง จึงนับว่าเหรียญรางวัล E-Waste มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน

โดยแฟนบอลชาวไทย สามารถมีส่วนร่วมและแสดงพลังเพื่อทีมที่รักได้ง่ายๆ กับการทำเหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ สู่เหรียญรางวัลเกียรติยศในการแข่งขันฟุตบอลรายการ รีโว่ ไทยลีก ฤดูกาล 2021/22 ทั้งสองรางวัล ได้แก่ “Football Club E-Waste Challenge Award”ซึ่งจะมอบให้แก่สโมสรที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรม ที่มีจำนวนขยะผ่านการฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับ AIS ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต สายชาร์จหูฟัง พาวเวอร์แบงก์ แบตเตอรี่มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่นๆ มากที่สุด ก่อนจบฤดูกาลช่วงกลางปีนี้ และ รางวัล “Football Club Green Ecosystem Award” เป็นรางวัลที่มอบให้กับสโมสรที่มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้โดดเด่นเป็นรูปธรรม

แฟนบอลชาวไทยสามารถ ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ได้ที่ถังรับฝากทิ้ง สนามเหย้าของสโมสรในไทยลีก 1 ทั้ง 16 สนามทั่วประเทศได้แล้วตั้งแต่วันนี้– 31 พฤษภาคม 2565 อีกทั้งยังสามารถฝากทิ้ง E-Waste กับพี่ไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์ ทั่วประเทศ ได้ฟรี โดยนำ E-Waste ใส่กล่อง และเขียนหน้ากล่องว่า ฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมใส่ชื่อสโมสรที่ตนชื่นชอบไว้ที่หน้ากล่อง เพื่อนำไปรวบรวมเพื่อทำเหรียญรางวัลต่อไป

สำหรับแฟนบอลชาวไทย สามารถติดตามเส้นทางของเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ได้ทาง https://www.facebook.com/ais.sustainability