วันนี้(27 ธ.ค.64)ที่ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นางสาว วชิราภา เขียวรอด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนหลักสูตรอบรม อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เขตสุขภาพที่ 5 ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งการทำงานเชิงรุกของ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เกี่ยวกับ COVID โดยเฉพาะ การเฝ้าระวัง COVID-19 Omicron คือ เชื้อ COVID-19 ที่มีการกลายพันธุ์ (โดยเฉพาะในส่วนของหนาม) ทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่เคยมีการระบาดมาก่อน เช่น สายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) ซึ่งระบาดในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2564 หรือสายพันธุ์อินเดีย (Delta) ที่ระบาดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 – ปัจจุบันการทำงานเชิงรุกของ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เกี่ยวกับ COVID ดำเนินการเชิงรุกทั้งภายในและภายนอก
ภายนอก : ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม พัฒนาและกำกับติดตามห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และการตรวจประเมินความพร้อมของห้องปฏิบัติการตรวจ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่เปิดใหม่ ปัจจุบันในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่ง ศวก.ที่ 5 สมุทรสงคราม ดูแลอยู่มี 8 จังหวัด มีห้องปฏิบัติการที่เปิดให้บริการตรวจ COVID-19 ได้ถึง 30 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในจังหวัดสุพรรณบุรี มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 โรงพยาบาลด่านช้าง และโรงพยาบาลศุภมิตร
ภายใน : ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ประสานงานกับห้องปฏิบัติการ และนักระบาดวิทยา ทั้ง 8 จังหวัดที่รับผิดชอบ ให้ส่งตัวอย่างผู้ป่วยที่ให้ผลบวกด้วยวิธี RT-PCR มาตรวจหาสายพันธุ์ ที่ ศวก.ที่ 5 สมุทรสงคราม อย่างต่อเนื่อง และรายงานผลให้ผู้ส่งภายใน 1-2 วัน การเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาในประเทศ ต้องขอความร่วมมือจากทุกโรงพยาบาลช่วยส่งตัวอย่างตรวจหาสายพันธุ์ในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือชาวต่างชาติที่ป่วยและติดเชื้อโควิดทุกราย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เชื้อ Covid-19 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระยะ 20 ปี ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและเสริมสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความยั่งยืน การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชน หรือ “Community Medical Sciences for health: Com Med Sci for health” ซึ่งมีกิจกรรมหลักด้านหนึ่งคือ การแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ซึ่งรับผิดชอบเขตสุขภาพที่ 5 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี โดยจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัยเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ในชุมชน ตำบล และ อำเภอ ในเขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 47 แห่ง ดำเนินการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน ให้เป็น “อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน” จำนวน 1,886 คน ที่มีความสามารถในการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ที่ไม่ปลอดภัยโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และช่วยขับเคลื่อนศูนย์แจ้งเตือนภัย ฯ ตลอดจนสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านทางหน้าต่างเตือนภัย สุขภาพ “กรมวิทย์ with you” ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อน เครือข่ายการบูรณาการทำงานในการป้องกันและแกปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างเสริมศักยภาพและการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ในปี 2565 ไดเพิ่มการดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรค เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน การอบรมครั้งนี้ ไดรับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม เป็น อสม. หมอประจำบ้าน จำนวน 61 คน โดยมีทีมวิทยากรจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม มาบรรยายทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ ในหัวข้อบทบาทของ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนกับการแจ้งเตือนภัยสุขภาพในชุมชน การเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันตรายในชุมชน พร้อมฝึก ปฏิบัติการใช้ชุดทดสอบด้านยา อาหาร และเครื่องสำอาง แนวทางข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) วิธีการฆ่าเชื้อ และการกำจัดขยะติดเชื้อ
ทั้งนี้ ในช่วงปีใหม่ ขอฝากอะไรในการระวังเชื้อ COVID เดินทางท่องเที่ยวได้ แต่ขอให้การ์ดอย่าตก เช่น สวมหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ รักษาระยะห่างหรือไม่อยู่ในที่มีคนแออัด ทำกิจกรรมใด ๆ เช่น รับประทานอาหารหรือดื่มในสถานที่เปิดโล่ง ไม่เป็นห้องแอร์หรือห้องปิด เป็นต้น