นางฐิติรัตน์ เค้าภูไทย วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เกม สำหรับบางคนเป็นสิ่งที่เล่นเพื่อคลายเครียด แต่บางคนเล่นอย่างจริงจังเพื่อหวังชัยชนะ หรือของรางวัลในเกม ปัจจุบันมีการเล่นเกม ที่เรียกว่า “อีสปอร์ต (E-Sports)” ซึ่งเป็นการแข่งขันตามประเภทของเกม เช่น เกมวางแผนการรบ เกมต่อสู้ เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง โดยแบ่งผู้เล่นเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่างๆ อาทิ เวิลด์ไซเบอร์เกมส์ อาร์โอวีเมเจอร์ลีก ดรีมแฮ็ค Thailand E-Sport Pro League 2018, SINGHA E-Sport Pro League 2018 เป็นต้น และส่งผลให้เกิดอาชีพ เช่น นักพากย์ นักแคสต์เกมอาชีพ รวมถึงมีผู้สนับสนุนแบรนด์ต่างๆ ในระดับโลก ไม่แตกต่างจากวงการกีฬา
การแข่งขันอีสปอร์ตในประเทศไทย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ คือเกม Counter – Strike ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๔ มีการจัดแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการแข่งขันเกมอีกหลายรายการ และในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ประเทศไทย ประกาศรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้บรรจุเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา
วงการ E-Sports เป็นที่จับตามองและเป็นกระแสไปทั่วโลก ดูได้จากยอดเงินรางวัลของการแข่งขัน ซึ่งสูงถึงประมาณ ๑๐ ล้านดอลล่า ผู้เล่นอีสปอร์ต นอกจากรวมตัวกันเป็นทีม ยังต้องฝึกซ้อมตามตารางเวลาวันละหลายชั่วโมงเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ผู้แข่งขันต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีระเบียบวินัย ขยันฝึกซ้อม ถึงจะประสบความสำเร็จสร้างรายได้ และชื่อเสียง
แต่จะมีเยาวชนสักกี่คนที่จะก้าวสู่ความสำเร็จเป็นนักเล่นมืออาชีพได้ หากพวกเขาเหล่านั้นไม่มีวินัยในการเล่นเกมจนกลายเป็นเด็กติดเกม ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ต้องร่วมมือกันกำกับดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ไม่ให้เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง และไม่ควรเล่นนานเกินวันละ ๒ ชั่วโมง เพราะผลเสียที่จะตามมาคือ สุขภาพกายและสุขภาพจิต นำไปสู่การพนันออนไลน์ และปัญหาสังคมต่างๆ เราควรหากิจกรรมทดแทนการเกม เช่น การเล่นดนตรี การออกกำลังกาย กิจกรรมจิตอาสา เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับพลเมืองยุคดิจิทัล