วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา พร้อมกับบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้องควบคุมยาสูบ” จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยในส่วนของจังหวัดนครปฐมมี นางจริยาพันธ์ รุจิรัชกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา บัวเวช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ และนายธัญพร ดังตราชู ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ รูปแบบออนไลน์
ต่อจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย หัวข้อ “สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย” ตามด้วยการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญและความคาดหวังของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด” โดย นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อ“จุดเน้นกฎหมายควบคุมยาสูบ สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจและถูกต้อง” โดย นายจิรวัฒน์ อยู่สบาย รองผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อ “บทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และหัวข้อ “ประสบการณ์สื่อมวลชนกับการขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย” โดย นางสาวกนกพรรณ รัตนวิเวก ตัวแทนสื่อมวลชนของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และปิดท้ายด้วยหัวข้อ “บทบาทมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กับการหนุนเสริมการดำเนินงานควบคุมยาสูบ โดยนางสาวแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณญา เบญจกุล กล่าวถึงผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14%ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคนเป็นที่สูบบุหรี่ทุกวัน 40,724 คน และสูบบุหรี่แบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15 – 24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดาร้อยละ 26.70 เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าร้อยละ 11.3 และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากันร้อยละ 62 ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนและอัตราคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ปี 2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คนนับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา