เอไอเอส จับมือกรมสุขภาพจิต สานต่อความร่วมมือในการส่งเสริมให้หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิและ อสม.นำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ไปใช้ในการดูแลสุขภาพจิตคนในชุมชน โดยลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อคัดกรองและค้นหาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน อันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิและ อสม.ใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ สำรวจคัดกรองสุขภาพจิตเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยสุขภาพจิตได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส และกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกันพัฒนารายงานคัดกรองสุขภาพจิตขึ้นบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติเมื่อปี 2563 เพื่อให้ อสม.นำเครื่องมือนี้ไปใช้คัดกรองสภาพจิตใจของประชาชนที่ตนเองดูแล ทำให้ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบสถานะสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ได้แบบทันที ทำให้การดูแลและเฝ้าระวังเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และ อสม.ได้ใช้รายงานคัดกรองสุขภาพจิตบนแอปฯ อสม.ออนไลน์ เพื่อสำรวจคัดกรองสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชนไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน สามารถค้นหาและเข้าถึงผู้ที่อาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีความเครียดมาก มีความเสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา พร้อมทั้งสามารถดูแลติดตามและจัดบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพใจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากการติดตามการใช้รายงานคัดกรองสุขภาพจิตของรพ.สต.ในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้นำไปใช้งานนั้น พบว่า เจ้าหน้าที่รพ.สต.เข้าถึงข้อมูลการคัดกรองสุขภาพจิตแบบเรียลไทม์และทราบสถานะสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ได้ทันที สะดวกต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล และสรุปรายงานได้ง่ายเป็นรายบุคคลและติดตามได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังดูแล ให้ความช่วยเหลือและติดตามประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เหมาะสมและทันสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบื้องต้นหลังจากที่ อสม.ทำการคัดกรองแล้ว ระบบในแอปจะประมวลผลและปรากฎคำแนะนำในการดูแลตนเองแก่กลุ่มเสี่ยงในระดับต่างๆได้ทันที
ด้านนายพิเชษฐ์ เพ็ชร์เจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไทรทอง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี หนึ่งในรพ.สต.ที่ได้นำรายงานคัดกรองสุขภาพจิตบนแอปฯ ไปใช้งาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบให้หลายๆคนเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ภาวะเครียด ซึมเศร้า และนำไปสู่ภาวะเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นปัญหาทุกพื้นที่ในปัจจุบันที่ต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่ง รพ.สต.ถือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ก็มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพจิตของคนในชุมชน โดยรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ติดตามการรับยาของผู้ป่วย รวมทั้งการทำงานในเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพจิตที่จะนำไปสู่ความเครียด ซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย โดยการคัดกรองในพื้นที่ เพื่อค้นหาผู้ป่วย หรือเสี่ยงต่อการป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งต้องอาศัย อสม.ในพื้นที่คอยสอดส่อง สำรวจ เฝ้าระวัง ดูแลประเมินภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในครัวเรือนที่รับผิดชอบ โดยรพ.สต.จะให้ อสม.สำรวจคัดกรองสุขภาพจิตผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์ทุกเดือนและให้ อสม.คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ รับส่งต่อผู้ป่วยที่ อสม.ประเมินแล้วต้องได้รับการดูแลรักษาได้รับการรักษาพยาบาลและส่งต่อในรายที่พบมีภาวะเสี่ยง หรือป่วย
จากการที่ รพ.สต.ได้นำแอป อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการประเมินคัดกรองสุขภาพจิตช่วยให้ การทำงานของ รพ.สต.และ อสม.สะดวก รวดเร็วขึ้น โดย อสม.จะทราบทันทีว่าสมาชิกในหลังคาเรือนใดที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต อสม.ก็จะพูดคุยและให้คำแนะนำในการปฎิบัติตัวเบื้องต้นเป็นรายบุคคลได้ พร้อมทั้งส่งต่อผ่านระบบออนไลน์ไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที หากพบผู้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาได้ทันท่วงที และส่งต่อสถานบริการ ทำให้ประชาชนที่ได้รับการคัดกรองได้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
ขณะที่นางชื่นกมล ใจศิริ ประธาน อสม.รพ.สต.บ้านไทรทอง จ.กาญจนบุรี อสม.ดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2552 สาขาสุขภาพจิตในชุมชน กล่าวว่า การใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์คัดกรองสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ ช่วยให้การทำงานของอสม.สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ประหยัดเวลาและประหยัดวัสดุอุปกรณ์ และทำให้ อสม.สามารถเข้าถึงประชาชนและคัดกรองสุขภาพจิตได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน โดยหลังจากสำรวจคัดกรองสุขภาพจิตแล้วบนแอปฯ อสม.ออนไลน์ จะประเมินผลการคัดกรอง แล้วสรุปผลให้พร้อมมีคำแนะนำให้สามารถให้คำแนะนำหรือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้เลยทันทีเหมือนมีเจ้าหน้าที่ออกไปร่วมคัดกรองด้วย และถ้ามีภาวะเสี่ยงสูงก็จะส่งต่อรพ.สต.ทำให้ดูแลและให้คำปรึกษาได้ทันก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่