วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 – 16.00 น. นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายจักรพงศ์ การีชุม ลงพื้นติดตามความก้าวหน้าฯ การสนองพระปณิธาน สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ด้วย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” พระราชทาน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายชัยยงค์ ผ่องใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางสาวธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พัฒนาการอำเภอปรางค์กู่ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ร่วมให้การต้อนรับ
นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อกรมการพัฒนาชุมชนและกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้พระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อจุดประกายให้ช่างทอผ้า ได้สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง ประชาชนมีรายได้ จากการขายสินค้าชุมชน/สินค้าOTOP และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายชัยยงค์ ผ่องใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการสืบสาน รักษาต่อยอด ภูมิปัญญาการทอผ้าท้องถิ่น และมีการประยุกต์ลวดลาย สีสันให้ทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะสีที่ใช้ย้อมเส้นไหมเป็นสีจากธรรมชาติ ทำให้ผ้าไหมของกลุ่มวิสาหกิจบ้านน้อยนาเจริญมีสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และได้มีการสนองพระปณิธาน สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ด้วย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” พระราชทาน โดยสมาชิกในกลุ่มฯ ได้นำลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาประยุกต์กับภูมิปัญญาการทอผ้าดั้งเดิม ทำให้มีความสวยงามโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ภาครัฐและเอกชน ได้ขับเคลื่อนผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ จากเดิมมีการทอผ้าลายลูกแก้วย้อมจากผลมะเกลือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการย้อมดั้งเดิมของชาวอีสานใต้ ได้ผ้าสีดำขลับ มีข้อจำกัดคือไม่หลากหลายในการใช้สวมใส่ เนื่องจากเป็นสีดำ และเป็นผ้าหน้าแคบ ไม่สะดวกต่อการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การขับเคลื่อนผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ : ยกระดับสินค้าการเกษตร การค้า และการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและแข่งขันได้ ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดให้วาระผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” เป็น 1 ใน 10 ของวาระจังหวัด ที่จะขับเคลื่อนในปี 2564 จัดตั้ง คอนเซปต์/MOTTO เพื่อง่ายต่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจ สร้างกระแสการรับรู้ ได้แก่“ศรีสะเกษธานี ผ้าศรี …แส่ว” ภายใต้แบรนด์ “ผ้าทอเบญจศรี” ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน และนำมาต่อยอดให้เกิดอาชีพ เกิดสินค้า OTOP สร้างรายได้ให้ชุมชน
นายชัยยงค์ ผ่องใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการประชาสัมพันธ์และคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เข้าประกวดระดับประเทศโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยและสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงินประเภทผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ ของนางวนิดา ระยับศรี
ในการนี้ นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวชื่นชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ที่ได้มีการสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าท้องถิ่น สมดังพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย อันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชม