มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จัดกิจกรรม “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อยกระดับการใช้ปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ”

มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”ถ่ายทอดความรู้ จัดกิจกรรม “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อยกระดับการใช้ปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ”

 

สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก สาวะอิน อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วยผู้ช่วยนักวิจัย ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่ชุมชนเกาะสุกร เมื่อปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากเกาะสุกรเป็นชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวประมง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ มีการจำหน่ายปูม้าสู่ผู้บริโภคโดยทั่วไป

นางราตรี  จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อยกระดับการใช้ปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ” โดย มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดย อาจารย์ ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการ ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้โครงการ “การบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่” โดยการเชื่อมโยงกับการทำธนาคารปูม้าระยะที่ 2 เพื่อยกระดับการใช้ปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ โดยการปลูกผักแบบยกพื้นตามแนวทาง BCG economy model ซึ่งดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับชุมชนในพื้นที่เกาะสุกร จังหวัดตรัง ณ อาคารเอนกประสงค์บ้านแหลม ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชำนาญ ขวัญสกุล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน  30 คน ภายใต้มาตรการป้องกัน COVID19  เพื่อให้สมาชิกธนาคารปูม้าในชุมชน พื้นที่เกาะสุกร จังหวัดตรัง ได้รับความรู้วิธีการนำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ มาใช้ให้ถูกวิธี พร้อมกันนั้นได้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธ์เมล็ดผัก ในขันตอนต่างๆ ทั้งในรูปแบบของการปลูกผักแบบยกพื้นในโรงเรือน เพื่อให้เกิดการเจริญงอกงามได้ดี ภายใต้การดำเนินโครงการในครั้งนี้ได้มีการมอบปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบ ให้กับตัวแทนสมาชิกธนาคารปูม้าทุกท่าน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถดำเนินการต่อยอดตลอดจนการฝึกปฏิบัติในการยกระดับการใช้ปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าต้นแบบต่อไปได้ในอนาคต