วันนี้ 18 ก.ย.64 น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าสำนักงานหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบฯ ได้จัดประชุมร่วมกับสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภค จ.ประจวบฯทั้ง 13 องค์กร ผ่านประชุมออนไลน์ระบบ ZOOM ซึ่งมี นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคจังหวัดประจวบฯ กล่าวเปิด พร้อมนำสมาชิกฯเข้าร่วมที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อ.บางสะพานน้อย และ นายเกตุ พราหมณี รองประธานสภาผู้บริโภคจังหวัด/นายกสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด นำสมาชิกในศูนย์อำเภอปราณบุรีร่วมรับฟัง และที่ศูนย์ฯอ.บางสะพาน ได้มี นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภคฯ พร้อม น.ส.ปวันรัตน์ จันทร์เดช หัวหน้าศูนย์ฯอ.บางสะพาน นำสมาชิกเข้าร่วมด้วย ส่วนศูนย์อำเภอเมืองฯ จ.อ.เสกสรรค์ จันทร รองประธานสภาผู้บริโภคฯ/ประธานศูนย์อำเภอเมืองพร้อมสมาชิกเข้าร่วมที่หน่วยงานประจำจังหวัดฯ
ทั้งนี้ในส่วนของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในแต่ละอำเภอทั้ง อ.ทับสะแก อ.กุยบุรี อ.สามร้อยยอด และ อ.หัวหิน ตลอดจนองค์กรสิทธิผู้บริโภคตำบล ทั้ง 4 ตำบล ได้แก่ ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน ต.บ่อนอก , ต.คลองวาฬ อ.เมือง ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี นำสมาชิกเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยมี นายนาวิน วิทยาธรชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเป็นทนายประจำสำนักงานหน่วยงานฯ ร่วมให้ความรู้ในข้อกฎหมาย
ด้าน น.ส.ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยฯ กล่าวว่า วันนี้จะเป็นการประชุมเพื่อทบทวนหน่วยงานประจำจังหวัดฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีหน้าที่ดังนี้ (1)เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานรัฐในระดับจังหวัด (2)สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค ในระดับจังหวัด โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ (3)รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบในระดับจังหวัด และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ(4) สนับสนุนการรวมตัวและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคภายในจังหวัด เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค
(5)ร่วมกับสมาชิก และองค์กรของผู้บริโภคอื่นในจังหวัดจัดให้มีสภาจังหวัด โดยให้หน่วยงานประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นเลขานุการ (6)รับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค (7)ดำเนินคดีในนามของสภาได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาจังหวัด ตามที่กำหนดในหมวดว่าด้วยการฟ้องคดี เว้นแต่หน่วยงานประจำจังหวัดนั้นเป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ (8)จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนงบประมาณรายปี และรายหกเดือน
(9) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอต่อสำนักงานเป็นประจำทุกหกเดือน โดยอย่างน้อยรายงานต้องมีเนื้อหาครอบคลุมผลงานที่เป็นความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ (10) ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณและจัดทำรายงานการเงินและบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าด้วยงบประมาณ การบัญชี การเงิน และการสอบบัญชีของสภาองค์กรของผู้บริโภค (11) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
สำหรับภารกิจหลักขององค์กรทั้ง 13 องค์กร วัตถุประสงค์ขององค์กรฯ เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้สิทธิ หน้าที่สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองได้ ในส่วนบทบาทหน้าที่และภารกิจ มี การรับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อยเดือนละ 4 เรื่อง ซึ่งมีการแบ่งประเภทเรื่องร้องทุกข์ มี 8 ด้าน 1.ด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน 2.ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 3.ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 5.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 6.ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 7.ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ8.ด้านขนส่งและยานพาหนะ และประชาสัมพันธ์องค์กรตนเอง ให้ความรู้สิทธิ หน้าที่ของผู้บริโภคให้มีความหลากหลายทั้งเนื้อหาและช่องการการสื่อสาร//////////