สพร.15 พระนครศรีอยุธยา เชิญชวนเจ้าของกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานชองผู้ประกอบอาชีพ (ม.26) ย้ำ มีแต่ได้กับได้

พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา เชิญชวนเจ้าของกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ ตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในวงจรการผลิต มีแต่ได้ไม่มีเสีย

นางสาวสุมาลี  สุวรรณเกต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  โดยนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการตามมาตรา 26 ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เชิญชวนให้นายจ้าง และสถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน กำหนดอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ พิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบกิจการในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิตลดต้นทุน ลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ โดยขั้นตอนจะทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับ สพร.หรือ สนพ.ในการจัดตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน จัดทำข้อสอบภาคความรู้ ภาคปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อสอบ จัดทดลองทดสอบให้แก่พนักงาน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อขอหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพแล้วนำไปใช้ได้ทันที

เมื่อผู้ประกอบกิจการได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนตามมาตรา 26 แล้ว และได้นำมาตรฐานดังกล่าว ไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตนในปีที่ผ่านมา มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละสาขา ระดับละ 10,000 บาทอีกด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานและนำไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตน ต่อไป ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับแล้ว พนักงานหรือลูกจ้างก็จะได้ทราบระดับทักษะฝีมือ และข้อบกพร่องของตนเองเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและช่วยให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมอีกด้วย ในส่วนของผู้บริโภคเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยตรวจสอบได้จากแรงงานผู้มีทักษะฝีมือและนำไปอ้างอิงในอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา สถาบันฯ ดำเนินการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ  สาขาพนักงานประกอบแบบหล่อ ระดับ 1 ของบริษัท โอกาโมโต้ (ไทย) จำกัด ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา

“การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้ประกอบกิจการจัดทำ และนำมาใช้วัดระดับทักษะของพนักงาน กรณีที่พนักงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรต่อไปได้ จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการที่สนใจ เข้าร่วมจัดทำมาตรฐานดังกล่าว สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มงานมาตรฐานฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา หมายเลขโทรศัพท์ 0 3536 0631-5 ต่อ 503”  ผอ. สพร.15 พระนครศรีอยุธยา กล่าว