วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เปิดงานนิทรรศการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้องประชุมปิ่นเกรียว ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในการเปิดการประชุมครั้งนี้ ว่า “กรมการพัฒนาชุมชนมีวิสัยทัศน์คือ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2565 ” ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้มุ่งขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดยเพื่อมุ่งมั่นว่ากรมการพัฒนาชุมชน พร้อมขับเคลื่อน สัมมาชีพชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข” ทั้งนี้เพื่อน้อมสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร สมดั่งพระราช ปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษาต่อยอด สมเด็จพระบรมชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังจะได้เห็นว่ากรมการพัฒนาชุมชน
ได้ผนึกกำลังกับทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย บูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ 1 ใน 7 ภาคีที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ภาครัฐ (2) ภาควิชาการ (3) ภาคศาสนา (4) ภาคประชาชน (5) ภาคเอกชน(6) ภาคประชาสังคม และ (7) ภาคสื่อมวลชน โดยร่วมจับมือกันก้าวเดินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และประเทศชาติในวันนี้ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อันเป็นภาควิชาการ ร่วมด้วยภาคราชการ พาณิชย์จังหวัดในภูมิภาคตะวันตก เกษตรจังหวัดนครปฐม ประธานหอการค้าจังหวัดนครปฐม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม และผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งพวกเราต้องร่วมกันน้อมนำ ดำเนินการให้เกิดรูปธรรมและเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เกิดเป็นหลักอันหนุนสร้างประโยชน์สูงสุดในชีวิตของให้พี่น้องประชาชนทุกระดับ “ยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองอย่างมั่นคง” ตามเบื้องพระยุคลบาท ตามทฤษฏีบันได 9 ขั้น 3 ระดับ ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1-4 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน , ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และบันไดขั้นที่ 5-9 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า
อันเป็นแนวทางที่เป็นลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งรับรองได้ว่าวิถีนี้ไม่มีจนแน่นอน ในส่วนของการประสานความร่วมมือของพวกเราในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นการผลักดันในระดับของขั้นก้าวหน้า อันประกอบด้วย บันไดขั้นที่ 5-9 ซึ่งเป็นการยกระดับสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ทำนุบำรุงศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา บนรากฐานของการเอาตัวรอดในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ ไม่ขาดความมั่นคงเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายความประมาท แม้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย อาทิ วัตถุดิบจากการเกษตร พืชผักจากรั้วบ้าน ผลผลิตจากธรรมชาติในชุมชน ท้องถิ่นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด ในการแบ่งปันความรู้ ลงแรงช่วยเหลือกัน อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังจะเห็นได้จากการทรงส่งเสริมงานด้านการสหกรณ์ ที่สอนให้คนรู้จักรับผิดชอบร่วมกัน รู้ถึงคุณค่าของประโยชน์อันจะได้ร่วมกันเป็นส่วนรวม มาอย่างยาวนานตราบปัจจุบัน อาทิ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง เป็นต้น ขั้นที่ 9 นี้จึงเป็นการมุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความ สำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤต 4 ประการ อันได้แก่ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ วิกฤตการณ์โรคระบาดทั้งในคน สัตว์ พืช วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพงวิกฤตความขัดแย้งทางสังคม เปรียบการร่วมมือร่วมใจกันดัง “แขนงไม้ไผ่” ที่มามัดรวมเข้าเป็นกำเดียวกันซึ่งยากจะแตกหักพังทลาย เข้มแข็งมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID – 19)
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่ออีกว่า “อย่างไรก็ดี การพัฒนาคน พัฒนาชาติ ภาคการศึกษา ถือเป็นที่ 1 แห่งรากฐานและหัวใจสำคัญในการพัฒนาสรรพกำลังดังกล่าว ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และภาคีเครือข่ายภาคตะวันตก ที่ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวนี้ เห็นได้ชัดว่านอกจากจะเห็นความสำคัญของการศึกษาในระบบแล้ว ยังมุ่งเน้นด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในวิชาการแห่งการใช้ชีวิต วิชาชีพ ที่สอดคล้องตามโลกในศตวรรษที่ 21 ให้เกิดคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่สามารถปฏิรูปปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จของโครงการในวันนี้ จะเกิดองค์ความรู้ที่ทุกจังหวัดสามารถนำไปถอดบทเรียนและขยายผลอย่างเข้มข้นตามบริบทและศักยภาพของจังหวัดตนเอง ต่อยอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การดำเนินงานของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในปี 2564 มีความสอดคล้อง กับประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมพัฒนาชุมชน ในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวและกลยุทธ์ตามที่กล่าวข้างต้น ตลอดจนพลังนิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ต่างเป็นกลไกการพัฒนาที่เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหรือ SMEs และ OTOP ให้มีการพัฒนานวัตกรรม แก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสการเข้าถึงช่องทางการตลาด โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ (Online Marketing) พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์กล่าว
การจัดงานในครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด , สำนักงานพาณิชย์จังหวัด , ในภูมิภาคตะวันตกในการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันตก ประจำปี 2564 รวมทั้งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอาหารใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการเพิ่มมูลค่า ซึ่งผลการดำเนินการดังกล่าว ได้สร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นจำนวน 20 ผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยกลุ่มเป้าหมายของผู้ร่วมฟังเป็นผู้ประกอบการ OTOP และผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคตะวันตกประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม , จังหวัดสุพรรณบุรี , จังหวัดราชบุรี , จังหวัดกาญจนบุรี , จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม