มทร.ตรัง ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัย เปลี่ยนวิธีเลี้ยงหอยนางรมแบบดั้งเดิม สู่การเลี้ยงในตะกร้าและตะแกรงคอนโด 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากกว่า 7-8 เท่าตัว ขณะที่คุณภาพหอยไม่แตกต่างจากหอยนางรมในธรรมชาติ หรือที่ชาวบ้านเลี้ยงแบบดั้งเดิม
นางสาวสุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย ตรัง ลงพื้นที่ติดตามดูความก้าวหน้า โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ภายใต้แผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนใน เขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม บ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งอาศัยของหอยนางรม หอยแมลงภู่ในธรรมชาติแหล่งใหญ่ ที่ชาวบ้านมักดำน้ำ และงมหาเป็นประจำ ถือเป็นห้องครัวหน้าหมู่บ้าน แต่การหาในธรรมชาติมีวันหมดหายไป หากไม่อนุรักษ์ ชาวบ้านจึงเสริมอาชีพในชุมชนด้วยการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังแหล่งใหญ่ของลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง ทั้งเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และปลากระชังทุกชนิด สำหับการเลี้ยงหอยนางรมที่ชาวบ้านเลี้ยงกันเอง ใช้วิธีเลี้ยงแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ โดยการนำหอยนางรม 2 ตัว มาแปะติดกัน แล้วผู้เชือกเลี้ยงอนุบาลไว้ในกระชัง เมื่อถึงเวลาก็เก็บขาย แต่ได้น้อย มทร.จึงถ่ายทอดงานวิจัยส่งเสริมการเลี้ยงในตะกร้า และแบบตะแกรงคอนโด 3 ชั้น เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิต และ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม
นางสาวสุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง กล่าวว่า การพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ด้วยวิธีการเลี้ยงหอยนางรมในรูปแบบการเลี้ยงในตะกร้า และตะแกรงแบบเลื่อนพลาสติก 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ (กระชัง) ทำให้ได้ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 7 -8 เท่า หรือประมาณ 7,000 – 8,000 ตัวต่อ 1 กระชัง จากเดิมที่เลี้ยงหอยนางรมแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม ได้จำนวน 1,000 – 2,000 ตัว ต่อกระชัง ซึ่งเดิมชาวบ้านต้องออกเรือ ไปงม หรือดำ หาหอยในธรรมชาติ ที่มีตามบริเวณโขดหิน หรือรากต้นโกงกาง ขนาด 4-5 เซนติเมตร นำมาเลี้ยง แต่ที่มทร.ส่งเสริม โดยการเลี้ยงหอยแบบตะกร้า จะใช้ลูกพันธุ์หอยนางรมพันธุ์ตะโกรมกรามขาว ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ ต.วังวน ,ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จากจังหวัดกระบี่ และ จากจ.สุราษฎร์ธานี โดยนำตัวพ่อแม่พันธุ์ทั้งจาก 3 แหล่ง มาเพาะฟักที่หน่วยวิจัยหอยนางรม มทร.ตรัง จนได้ลูกหอยนางรมขนาด 5 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือ ขนาดเท่าเม็ดทราย ก่อนนำมาลงตะกร้าขนาด 30 x 20 ซม. แล้วเพาะเลี้ยงในกระชังขนาด 9 ตารางเมตร เป็นเป็นเวลา 10 เดือน หรือ จนหอยนางรมได้ขนาดตัว 7 ซม. แล้วย้ายจากตะกร้าขนาดเดิม ไปเพาะในตะกร้าขนาด 30 x 50 ซม. ซึ่งเมื่อตัวใหญ่ขึ้นจำเป็นต้องเปลี่ยนจากตะกร้าเล็กเป็นตะกร้าใหญ่ เพื่อให้อาหารจำพวกแพลงก์ตอนสามารถลอดเข้าไปเป็นอาหารได้เพียงพอกับขนาดตัวของหอยนางรม โดยหลังจากเปลี่ยนขนาดตะกร้าเกษตรกรจะต้องเลี้ยงหอยในกระชังต่อไปอีก 2 -3 เดือน จนได้หอยนางรมขนาด 12 ซม. ก็สามารถนำไปจำหน่ายในท้องตลาดได้ หากต้องการเลี้ยงต่อไปในกระชังก็ต้องเปลี่ยนขนาดตะกร้าเพาะเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งผลผลิตหอยก็มีความสมบูรณ์ไม่แตกต่างกัน และได้ในปริมาณที่มากกว่า โดยการเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ตัวเท่าเม็ดทราย ความรอดก็สูงประมาณ 80 % เท่ากับแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านเลี้ยง แต่เมื่อสามารถเพิ่มปริมาณได้ 7 -8 เท่า และยังทำให้หอยนางรมมีขนาดใหญ่และสามารถส่งขายได้ในราคาที่สูงขึ้น จะยิ่งเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงขึ้นด้วย และอนุรักษ์หอยนางรมในธรรมชาติให้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นด้วย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทะเล จากผลการดำเนินงานจึงได้มีการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาขยายพื้นที่ ในการเลี้ยงหอยนางรมไปยังชุมชนต่างๆ ซึ่งได้ทำการศึกษาระบบนิเวศและคุณภาพของน้ำ ที่เอื้อต่อการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดตรังต่อไป
ด้านนายเลิศ โรยอุตระ เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมชุมชนบ้านแหลม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า การเลี้ยงแบบในตะกร้า และในตะแกรงคอนโด ไม่ได้ยุ่งยาก เช่นเดียวกับการเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่นำหอยมาแปะก้นติดกับซีเมนต์ แต่จะได้ปริมาณหอยต่อ 1 กระชังสูงกว่า และหาเลี้ยงแบบดั้งเดิม พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่นำมาเลี้ยง ต้องออกเรือไปงมหาในน้ำลึกประมาณ 4 -5 เมตร แต่จะงมหาได้ดีเฉพาะช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากน้ำใส แต่หากเป็นหน้ามรสุม หรือหน้าฝน ชาวบ้านจะออกไปงมหาหอยขนาดเล็กในธรรมชาติไม่ได้ เพราะน้ำจะขุ่น มองไม่เห็นหอย และเป็นอันตราย การเลี้ยงแบบที่ มทร.มาถ่ายทอดวิชาให้ จึงสะดวกกว่า สามารถเลี้ยงหอยได้ขายทั้งปี และต่อกระชังก็ได้มากกว่า และได้ขนาดหอยนางรมตามที่ตลาดต้องการ ราคาก็จะสูง ซึ่งขณะนี้ราคาตัวละประมาณ 10 – 20 บาท อีกทั้งยังไม่มีสารเคมีตกค้าง สร้างความพึงพอใจให้กับชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมบ้านแหลมเป็นอย่างมาก