วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ดำเนินโครงการสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ผ่านระบบ Online TrueVRoom ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง โดยมีนางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เปิดโครงการและชี้แจงวัตถุประสงค์เป้าหมายของโครงการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต และเสริมความรู้ทักษะอาชีพเพิ่มเติม ให้กับผู้นำชุมชน เพื่อการพึ่งพาตนเอง การขยายผลสู่ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน หรือนำไปใช้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ตลอดจนเสริมทักษะในการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ในรูปแบบของ “ตู้ยาข้างบ้าน ตู้อาหารข้างครัว” กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ขยายผลบ้านพี่เมืองน้อง สร้างความมั่นคงทางอาหาร จากพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา จำนวน 20 ตำบลๆ ละ 15 คน รวม 300 คน โดยมีกิจกรรมในการฝึกอบรมให้ความรู้ ดังนี้
1. หลักสูตรระยะสั้น “108 อาชีพแก้จน พัฒนาคนทุกช่วงวัย”: สาธิตฝึกปฏิบัติการทำ “น้ำสมุนไพรกระชายน้ำผึ้งมะนาว”
2. ความรู้เรื่องพื้นที่ต้นแบบฯ และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
3. การบำรุงดินตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช การห่มดินแบบแห้งชาม น้ำชาม การทำปุ๋ยหมักแบบด่วน และการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงและฟื้นฟูดิน
4. ตู้ยาข้างบ้าน ตู้อาหารข้างครัว การเพาะเมล็ดพันธุ์ การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้และหันกลับมาใช้ชีวิตอย่างพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นทางรอดในภาวะวิกฤติ การอบรม “หลักสูตรระยะสั้น 108 อาชีพแก้จน พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ในวันนี้ มีการฝึกปฏิบัติสร้างทักษะอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ในครัวเรือน และการให้ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการน้อมนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ใน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม การให้ความรู้ สาธิตการปลูก และใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้ตระหนักรู้ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการ เพิ่มทักษะความรู้ด้านอาชีพ มีความมั่นคงทางอาหารจากการปลูกพืช และแปรรูป จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต ตลอดจนมีศักยภาพการบริหารจัดการตนเอง ที่ส่งผลความเข้มแข็งของในการพึ่งตนเองได้แล้ว ยังมุ่งหวังให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลขยายที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะสามารถผนึกกำลังเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ สู่การสร้างการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในลักษณะ “ตู้ยาข้างบ้าน ตู้อาหารข้างครัว” และการแบ่งปัน โดยมี โก่งธนูโมเดล เป็นต้นแบบ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ส่งมอบให้แก่ผู้นำที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลงมือปลูกในพื้นที่ของตนเองตามสโลแกน “ผู้นำต้องทำก่อน” โดยเมล็ดพันธุ์ที่ได้สนับสนุน จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ ผักบุ้ง พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือยาว ถั่วฝักยาว แตงกวา คะน้า ฟักทอง และฟ้าทะลายโจร และมุ่งสู่การขยายผลของครัวเรือนในชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตต่อไป