13 สิงหาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ตามมติจากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) วันที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของทรัพยากรดิน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม พัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรดินในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยในทุกปี จะมีการประกวดชิงรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ซึ่งประเทศไทยร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรและประชาชน ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางด้านอาหารและการขจัดความหิวโหย และกระตุ้นให้ทั่วโลกมีกิจกรรมด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนผ่านทางกิจกรรมเนื่องในวันดินโลก รวมทั้งเสริมสร้างให้บุคคล หน่วยงาน องค์กรหรือประเทศ มีความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดิน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงาน สถาบันการศึกษา ที่มีผลงานและกิจกรรมเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมและการสร้างความตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรดินและการจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยจะมีการมอบรางวัลในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
ด้วยวิสัยทัศน์และภารกิจ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ลงนามความความมือและร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่างๆเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก และมีกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมหลายโครงการ อาทิ กิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน กิจกรรมการเอามื้อสามัคคีเพื่อร่วมเรียนรู้การฟื้นฟูดินผ่านกระบวนการลงมือทำในพื้นที่จริงด้วยกลไกจิตอาสา กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ทั้งแปลงชุมชนต้นแบบ CLM และแปลงครัวเรือนต้นแบบ HLM ทั่วประเทศ กิจกรรมการลงพื้นที่เรียนรู้และทำงานของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ( นพต.) ร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19) และมีเป้าหมายในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างประโยชน์และสร้างความสุขแก่พี่น้องประชาชน ได้อย่างยั่งยืน โดยจะเห็นได้จากกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนมี ดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ในด้านการขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติ ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่ออีกว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พร้อมที่จะสานต่อเจตนารมณ์ในพระราชปณิธาน พร้อมน้อมนำพระราชดำริ มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ในการพัฒนาดิน น้ำ ป่า พันธุ์พืช และอาชีพของเกษตรกร ตลอดจนครัวเรือนที่สนใจเข้าร่วมโครงการให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้แจ้งให้พัฒนาการจังหวัดและบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนรวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวบรวมผลงานและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ในงานพัฒนาชุมชนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันดินโลก โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายงานพัฒนาชุมชน เช่น องค์กรสตรี อาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง และองค์กรอื่น ๆ สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ตามแนวทาง ตามโครงการ กิจกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม นำสื่อประชาสัมพันธ์ที่จัดทำขึ้น เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์ หรือ Social Media ในทุกช่องทาง ทั้ง Facebook Twitter Instagram YouTube LinkedIn ฯลฯ พร้อมติด แฮชแท็ก หรือสัญลักษณ์ # ให้ครบดังนี้ #WorldSoilDay #GlobalSoilPartnership #UNFAO #SEPtoSDGs #กรมการพัฒนาชุมชน #CDD #SDGforAll@Kmitl ทั้งนี้ สามารถติดแฮชแท็กชื่อกิจกรรมของแต่ละโครงการได้อีก เช่น #Khoknongna #ปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับพช. #ผู้นำการเปลี่ยนแปลง #SmartLeader #โคกหนองนา #โคกหนองนาโมเดล #โคกหนองนาพัฒนาชุมชน #หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามรายละเอียดตามที่มีหนังสือแจ้งถึงจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อรวมพลังสนับสนุนกิจกรรม “วันดินโลก” ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ในการสนับสนุนผลงานหรือกิจกรรมการประกวดชิงรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ต่อไป ตลอดจนเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกไป เพื่อร่วมสร้างความภาคภูมิใจในการดำเนินงานร่วมกัน ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ด้วยหลักการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง( Sufficiency Economy Philosophy : SEP) แต่สามารถสร้างประโยชน์สุขให้คนจำนวนมากได้ โดยมีเป้าหมายสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ( Sustainable Development Goals : SDGs ) อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวย้ำในตอนท้าย