มทร.ศรีวิชัยวิทยา เขตตรัง ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ช่วยเหลือชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงหอยเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้สู่ ชุมชน บ้านแหลม อ.กันตัง จ.ตรัง ผ่านงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
. หอยนางรมเป็นอาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำมา รับประทานกับแบบสดๆ หรือจะนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่างหลากหลายเมนู อีกทั้งเปลือกหอยนางรมยังนำมาใช้ทำปูนขาว ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ทั้งในด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่หอยนางรมจะเป็นอาหาร ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่มีความต้องการทางตลาดเป็นค่อนข้างสูง ในขณะที่ ผศ.โกสินทร์ พัฒนมณี รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ให้ความสำคัญ ในบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย การให้บริการวิชาการแก่สังคมด้วยนวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรือสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง” ภายใต้แผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา ด้วยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กรอบงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ดร. สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ณ ชุมชนบ้านแหลม อ.กันตัง จ.ตรัง ด้วยวิธีการเลี้ยงหอยนางรม ในรูปแบบการเลี้ยงในตะกร้าและตะแกรงพลาสติก 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ(กระชัง) ทำให้ได้ ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 7 เท่า หรือประมาณ 7,200 ตัวต่อ 1 กระชัง จากเดิมที่เลี้ยงหอยนางรมได้จำนวน 1,000-2,000 ตัว ต่อกระชัง ด้านนายเลิศ โรยอุตระ และนายสมยศ ณะสม เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมชุมชนบ้านแหลม อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่าการเลี้ยงหอยนางรมต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง ประมาณ 1-1.5 ปี จะได้หอยนางรมที่จำหน่ายในท้องตลาด ราคาตัวละ 10-20 บาท จากการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง ทำให้ได้ปริมาณ หอยนางรมเพิ่มมากและมีอัตราการรอดสูง อีกทั้งยังไม่มีสารเคมีตกค้าง สร้างความพึงพอใจให้กับชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนารมบ้านแหลมเป็นอย่างมาก จากผลการดำเนินงานจึงได้มีการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาขยายพื้นที่ ในการเลี้ยงหอยนางรมไปยังชุมชนต่างๆ ซึ่งได้ทำการศึกษาระบบนิเวศและคุณภาพของน้ำ ที่เอื้อต่อการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดตรังต่อไป
ภาพ/เรียบเรียง : แผนกประชาสัมพันธ์ งานบริหารกิจการทั่วไป มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง