วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางไพลิน ขาวแปลก พัฒนาการอำเภอบุณฑริก นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงานในโอกาสที่ ว่าที่ร้อยโท เจนรบ พละเดช ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ หัวหน้าคณะตรวจติดตามจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 และ นายกฤตชัย พรมวัน เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ หัวหน้าคณะตรวจติดตาม จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายช่างผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และครัวเรือนต้นแบบเจ้าของแปลง ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่คณะกรรมการตรวจติดตามในครั้งนี้
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากทางรัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมายพื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน171 แห่ง ในส่วนของอำเภอบุณฑริก มีพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ จำนวน 189 แปลง แยกเป็น แปลง CLM พื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 1 แปลง / แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่จำนวน 63 แปลง และแปลง HLM พื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 125 แปลง ซึ่งผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่ 2 นั้น ปรากฏว่า แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) อยู่ระหว่างการขุดปรับพื้นที่จาก หน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย (นพศ.นพพ.) ส่วนการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) แปลงระดับครัวเรือนลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 147 แปลง คงเหลือ 41 แปลง วงเงินสัญญาจ้าง15,847,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 78.19 ขุดปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว 70 แปลง (อยู่ระหว่างการทำเอกสารส่งเบิกเงิน)
นอกจากนั้น คณะฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามแปลงครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 2 แปลงได้แก่ แปลง ของนางวิยะดา อนุวรรณ หมู่ที่ 9 ตำบลโนนค้อ อำเภอบุณฑริก ขนาดพื้นที่3 ไร่ สัดส่วน 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย และแปลง ของนางแสวง จันทนิตย์ หมู่ที่ 11 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ สัดส่วน 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย ซึ่งคณะตรวจติดตามฯ ให้คำแนะนำในเรื่องการขุดปรับพื้นที่ ได้แก่ 1)การวัดปริมาตรดินขอให้ช่างผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม ไม่ให้เกิดความเสียหายของภาครัฐ เบิกจ่ายเท่าที่ขุดได้จริง 2)การขุดบ่อ ควรระวังการวางขอบบ่อต้องหางจากแนวเขตพื้นที่ข้างเคียงไม่น้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อ เพื่อป้องกันการร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
ด้าน นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะตรวจติดตามว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งการดำเนินงานนั้น มีกลไกทำงาน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนและคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา เเละมีแผนการติดตามทุกรุ่นในการดำเนินการฝึกอบรมฯ / กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลและพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน การดำเนินงาน มีการสำรวจการใช้แบบแปลนสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเรื่องการขุด โคก หนอง นา โดยเชิญอาจารย์จากชมรมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นวิทยากร สร้างความรู้และความเข้าใจให้นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีคณะติดตามการดำเนินโครงการเป็นระยะ และมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ ประเด็นถาม–ตอบ ให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ / กิจกรรมที่ 3 สร้างงานสร้างรายได้รายเดือน ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน นั้น ได้มีการติดตามการปฏิบัติหน้าที่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) อย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ผลการดำเนินงานของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ อย่างสม่ำเสมอ / กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model : HLM) ระดับครัวเรือน ผลการดำเนินงาน มีการตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ / กิจกรรมที่ 5 บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล การดำเนินงาน มีการตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบรายการวัสดุตามความต้องการของครัวเรือน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ต่อไป”