วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายคำแสน ประเสริฐสุข พัฒนาการอำเภอนาตาล พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชน ร่วมกันปลูกพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) ในโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
โดยการเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชน นำพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) เช่น ต้นมะม่วง ต้นกล้วย ขิง ข่า ตะไคร้และหญ้าแฝก ฯลฯ มาร่วมกันปลูก ณ แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นายเสมียน ขันจันทา อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 6 บ้านาคอม ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี มีผู้อาศัยในครัวเรือน 3 คน ประเภทของเอกสารสิทธิเป็นโฉนด พื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 15 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วนแบบ 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย หน่วยทหารพัฒนาที่จะดำเนินการขุด คือหน่วยทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 (นพค.51 อำนาจเจริญ) เริ่มดำเนินการขุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ปัจจุบันผลดำเนินการขุดปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลที่จะดำเนินการในพื้นที่เเห่งนี้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนรักป่า ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ เเละฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ
โอกาสนี้ นายเสมียน ขันจันทา เจ้าของแปลงได้เปิดเผยความรู้สึกว่า “ตนเอง ภรรยา และลูกสาว ได้มีความสนใจในการทำเกษตรอยู่ก่อนแล้ว แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์คือทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรก็ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำรดต้นไม้ พอทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาตาล และจากผู้นำหมู่บ้าน จึงได้ปรึกษาภรรยาและลูกสาว สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ โดยใช้พื้นที่มีอยู่เกือบทั้งหมดเข้าร่วมโครงการฯ ในวันนี้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชน ได้นำพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) เช่น ต้นมะม่วง ต้นกล้วย ขิง ข่า ตะไคร้และหญ้าแฝก ฯลฯ มาร่วมกันปลูก เพื่อ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถือเป็นบุญของตนเองยิ่งนักที่ได้พึ่งพระบารมีของพระองค์ท่าน ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอนาคต ตนคาดหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ และถือว่าตนโชคดีที่มีลูกสาว พร้อมที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ต่อไป” นายเสมียน กล่าวด้วยความตื้นตันใจ
ด้าน นายคำแสน ประเสริฐสุข พัฒนาการอำเภอนาตาล เปิดเผยว่า “หน่วยงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การปฏิบัติของประชาชน โดยขับเคลื่อนหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในระดับครัวเรือน ระดับกลุ่มอาชีพ ระดับชุมชน และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้ร่วมกันดำเนินการนำพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) มาปลูกในแปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) แห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และให้เจ้าของแปลงได้ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร และการแปรรูปย้อมผ้า เพื่อสร้างรายได้และสัมมาชีพต่อไป