นายอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง พร้อมด้วยสัตวแพทย์จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ลงพื้นที่พบเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ เพื่อให้ความรู้และเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ ที่มีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ และให้คำแนะนำรวมถึงสังเกตอาการของโคและกระบือ ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้พ่อค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเดินทางมาซื้อโคไปจำหน่ายได้
ที่หมู่ที่ 7 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง นายประโยชน์ สมศักดิ์ นายอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง พร้อมด้วยนางสาวฉัตติมา จันทนพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ โดยมีนายสนอง หนูวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี ซึ่งมรสมาชิก จำนวน 84 คน ได้รวมกลุ่มกันเลี้ยงโคเนื้อ ทั้งนี้นายสนอง หนูวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ อย่างต่อเนื่อง และคอยสังเกตอาการสิ่งผิดปกติของโค ที่เลี้ยงไว้ รวมถึงการกำจัดแมลง หากพบสิ่งผิดปกติจะมีการปรึกษาปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดตรังทันที ในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงโค ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดโคเนื้อส่วนใหญ่อยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อผู้ซื้อไม่สามารถเดินทางมาซื้อโคได้ ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ขณะนี้มีโคอยู่ประมาณ 50 ตัว จำหน่ายกิโลกรัมละร้อยกว่าบาท หากผู้ซื้อไม่สามารถเดินทางมาซื้อได้ทางเกษตรกรก็จะขายในพื้นที่จังหวัดตรังไปก่อน รอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ดีขึ้น
ทางด้านนาบประโยชน์ สมศักดิ์ นายอำเภอนาโยง กล่าวว่า การเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ ทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการทุกจังหวัด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุมและระงับโรคติดต่อ และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการในการป้องกัน ควบคุมและระงับการระบาดของโรคระบาดสัตว์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มิให้แพร่กระจายไปในพื้นที่อื่น และบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคระบาดดังกล่าว จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ในขณะที่นางสาวฉัตติมา จันทนพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัต ว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวว่า การป้องโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ คือการทำวัคซีน แต่หากเกิดโรคขึ้นแล้ว ก็จะรักษาตามอาการ หากโคมีไข้ ก็จะใช้ยาลดไข้ ลดปวด ยาแก้อักเสบ หากมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง แล้วแตกออกมีน้ำเหลือง ก็จะใช้ยาเป็นครีมทาที่ผิวหนัง และยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ร่วมกับการฉีดพ่นฆ่าเชื้อ และการกำจัดแมลง ข้อสังเกตของโรค โค จะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร ร่วมกับมีผื่นขึ้นตามตัว ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่ม ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับปริมาณของไวรัสที่เข้าไปในตัวสัตว์ ประมาณ 2 อาทิตย์ ตุ่มก็จะแตกและตกสะเก็ด พาหะของโรคของตัวเหลือบ ซึ่งสามารถบินได้ไกลถึง50 กิโลเมตร จึงทำให้โรคแพร่กระจายได้เร็ว จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจึงเร่งควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นยาเพื่อฆ่าพาหะของโรค หากพบสัตว์ป่วยลักษณะดังกล่าวให้รบแยกออกจากฝูงทันที