วันที่ 8 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรรมการและองค์กรสมาชิก สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเปิดโครงการ “โรงครัวปันสุข สู้ภัยโควิด-19” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 โดยมอบอาหารกล่องปรุงสุก วันละ 1,100 กล่อง แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 จนถึง 30 มิถุนายน 2564 ณ วัดระฆังโฆสิตารามมหาวรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย มาทรงปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ เคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดสร้างเพื่อตรวจหาไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถุงยังชีพพระราชทาน โรงครัวพระราชทานแจกจ่ายอาหารปรุงสุก เพื่อคลายความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และที่สำคัญทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการทรงฉลองพระองค์ “ผ้าไทย” ในทุกวาระโอกาส ทรงสนับสนุนการทอผ้าไหม ผ้าไทยพื้นถิ่นต่างๆ และผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเป็นผ้าที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ออกแบบพระราชทานให้พี่น้องคนไทยผ่านกรมการพัฒนาชุมชน ด้วยพระราชประสงค์ในการส่งเสริมให้ผ้าไทยเป็นที่นิยม พี่น้องคนไทยที่มีฝีมือเชิงหัตถกรรมได้มีอาชีพที่มั่นคงสามารถดูแลตนเองและครอบครัว นำพารายได้หมุนเวียนในชุมชน เอื้อให้เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
“ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เชิญชวนข้าราชการ และภาคีเครือข่าย ร่วมปฏิบัติบูชาในการทำความดี ตามที่พวกเราจะทำได้ คือการเสียสละแรงกาย แรงใจในการบรรจุอาหาร การบริจาคอาหาร บริจาคหน้ากากอนามัย รณรงค์ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างมั่นคงทางอาหาร” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่มีจิตเป็นกุศล ได้ร่วมใจกัน ในการทำความดีครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่ามีที่เดียวในโลกที่เรามีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ช่วยเหลือกันทั้งประเทศ ซึ่งเราก็เป็นพลังส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องจำนวนหนึ่งที่ทำงานหนักเพื่อประเทศชาติ อาทิเช่น บุคลากรทางการแพทย์ และพี่น้องประชาชนที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวหวังว่า โครงการ “โรงครัวปันสุข สู้ภัยโควิด-19”จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเอาชนะและฝ่าวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ โครงการ “โรงครัวปันสุข สู้ภัยโควิด-19” เพื่อมอบอาหารกล่องปรุงสุก วันละ 1,100 กล่อง แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในเขตชุมชนวัดระฆังฯ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ถึง 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งในแต่ละจุดนั้นจะมีตัวแทนมารับข้าวกล่องไปแจกจ่ายให้บุคลากรและประชาชน ดังนี้ 1.แพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยโควิดโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 2 (วัดศรีสุดาราม) จำนวน 200 กล่อง 2.แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลสนาม Local Quarantine (LQ) โรงแรมธำรงค์อิน จำนวน 20 กล่อง 3. แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยโควิดโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 300 กล่อง 4. เจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจฯ เขตบางกอกน้อย จำนวน 180 กล่อง
5. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางกอกน้อย จำนวน 50 กล่อง 6. ผู้สูงอายุ และประชาชนในชุมชนวัดระฆัง จำนวน 250 กล่อง
7. โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ จำนวน 100 กล่อง
นอกจากนี้ สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จมหาวีระวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช สนับสนุนข้าวสาร, พระครูสมุห์ วัชระ ภทฺทธมฺโม (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เอื้อเฟื้อสถานที่ แม่ครัว และเจ้าหน้าที่ ในการจัดทำข้าวกล่อง จำนวน 1,100 กล่องทุกวัน