วันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่อำเภอตระการพืชผลจังหวัดอุบลราชธานี
ในการนี้ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พลตรี นำพล คงพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) 51-56 ผู้บัญชาการหน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นายคมกริชชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิลาศ บุญโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายสมมาฏฐ์ โพธิ นายอำเภอตระการพืชผลนางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลงตัวอย่าง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ ในครั้งนี้ด้วย
โดยเวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทยพร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมแปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นางสาวบุญมี ทุมมา อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 7 บ้านห้วยที ตำบลถ้ำแข้ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ประเภทของเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน และเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 15 ไร่ ใช้เป็นแบบมาตรฐาน สัดส่วนแบบ 1:2 ประเภทดินร่วนปนทราย ปริมาณดินขุด 13,094 คิวดิน โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ คือ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการขุดปรับแต่งพื้นที่ 23 วัน ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2564 และในอนาคตจะมีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล CLM จำนวน 9 ฐาน ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ / ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด / ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี / ฐานการเรียนรู้คนติดดิน / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ / ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ ในส่วนของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 4 คน
โอกาสนี้ นางสาวบุญมี ทุมมา เจ้าของแปลง CLM ได้กล่าวขอบคุณและแสดงความรู้สึกต่อคณะผู้บริหารระดับสูงที่มาตรวจเยี่ยมว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา พช. ขอขอบพระคุณกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้นำสิ่งดีๆ มามอบให้ จากเดิมพื้นที่ 19 ไร่ ตรงนี้ทำนาอย่างเดียว มีรายได้ปีละ 1 ครั้ง และคิดอยากให้ครอบครัวมีอาชีพและมีรายได้เพิ่ม จึงได้หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แล้วได้เห็นโครงการ โคก หนองนา พช. จึงเกิดความสนใจ และได้หาข้อมูลเพื่อเข้าร่วมโครงการ จนเมื่อกลางปี พ.ศ. 2563 ทางอำเภอตระการพืชผล ได้มีการรับสมัครบุคคลเข้าร่วมโครงการฯ จึงไปสมัครเข้าร่วม เพราะเชื่อว่าการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางรอดของครอบครัวที่ยั่งยืน และมีความสุขตลอดไป สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ได้สนับสนุนบุคลากรในการขุดปรับพื้นที่ในครั้งนี้ ดิฉันรู้สึกดีใจ และประทับใจมากๆ ที่ทางหน่วยงาน ได้ช่วยปรับพื้นที่ให้ได้อย่างสวยงามตามแบบและตามความต้องการ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่” นางสาวบุญมี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
จากนั้น เวลา 11.00 น. คณะ ได้เยี่ยมชมแปลงตัวอย่างระดับตำบล (CLM) นายรุ่งรวีโชติพันธ์ อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 8 บ้านเกษม ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผลจังหวัดอุบลราชธานี ประเภทของเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน จำนวน 23 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 15 ไร่ แบบที่ใช้เป็นแบบมาตรฐาน สัดส่วนแบบ 1:2 ประเภทดินร่วนปนทราย ปริมาณดินขุด 14,233 คิวดิน โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ คือหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 ชัยภูมิ อยู่ระหว่างขุดปรับแต่งพื้นที่ ประมาณการอยู่ที่ 21 วัน และเริ่มขุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา และในอนาคตจะมีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล CLM จำนวน 9 ฐาน ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ / ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด / ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี / ฐานการเรียนรู้คนติดดิน / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ / ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ / ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ ในส่วนของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 6 คน ซึ่งนายรุ่งรวี โชติพันธ์ เจ้าของแปลงได้เปิดเผยว่า “ขอขอบคุณรัฐบาลกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นอย่างสูง ถ้าไม่มีโครงการ “โคก หนอง นา พช.” นี้ ตลอดชีวิตคงไม่มีโอกาสและไม่มีปัญญา ที่จะได้ขุดปรับพื้นที่ “โคก หนอง นา” อย่างแน่นอนก่อนหน้านี้ ตนเองนั้น มีรายได้จากการเพาะกล้าไม้ต้นยางนา และเพาะกล้ามะม่วงหิมพานต์ ขายได้ปีละประมาณ 80,000 บาท เมื่อดำเนินโครงการนี้เสร็จแล้ว ก็จะมีฐานเรียนรู้ 9 ฐาน ซึ่งตอนนี้ มีฐานเรียนรู้เบื้องต้นอยู่แล้ว เช่น ฐานคนเอาถ่าน ฐานคนหัวเห็ด ฐานปุ๋ยอินทรีย์ ฐานเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคพ่อพันธ์ุ แม่พันธุ์ และหมูหลุม เป็นต้นในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จึงรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ เหมือนฝันที่เป็นจริง ที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีครัวเรือนที่สนใจมาเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีความสุข รวมถึงน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งตนในฐานะผู้นำชุมชน จะขยายผลโครงการ “โคกหนอง นา พช.” ไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป” นายรุ่งรวี กล่าวด้วยความตื้นตัน
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้พบปะและมอบแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมต้อนรับในวันนี้ รวมถึงท่านที่ให้การสนับสนุนเครื่องมือ บุคลากร กำลังพล คือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และส่วนที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนทั้งในท้องถิ่น ท้องที่ และจังหวัดที่ร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการ ซึ่งทางจังหวัดอุบลราชธานี นั้น ถือเป็นอาณาจักรแห่ง “โคก หนอง นา” เลยก็ว่าได้ เพราะมีทั้งผู้นำที่เป็นพระสงฆ์ ผู้นำที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน และที่สำคัญสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 3,960 แปลง ดังนั้น พวกเราจึงต้องน้อมนำแนวพระราชดำริ ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ ให้พสกนิกรชาวไทยทุกท่าน ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพวาดอย่างละเอียด จะพบว่าปลายทางของการน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา จะทำให้พวกเรามีชีวิตที่มีความสุข มีความมั่นคง ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานสนับสนุน และเป็นเพื่อนคู่คิดเป็นมิตรคู่ใจของท่าน ร่วมกับครัวเรือนต้นแบบและผู้นำในพื้นที่ ในการที่จะช่วยกันที่จะสร้างสิ่งที่เรียกเป็นหัวใจสำคัญ คือองค์ความรู้ให้กับพี่น้องประชาชน หลังจากที่มีโอกาสไปฝึกอบรมมา ถือว่าโชคดีที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน และมีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนามาช่วยในการทำให้กับพื้นที่ การที่จะพึ่งพาตนเองตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” นั้น เมื่อมีแล้วก็ขอให้พวกเราได้ช่วยกันขยันหมั่นเพียร และก็อดทนในการที่จะพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ให้สมกับที่เราตั้งใจจะทำให้ครอบครัวเรามีความสุข เช่น การห่มดิน หลังจากการขุดก็ให้รีบทำตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จากป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งต้องรีบดำเนินการ” ขอฝากท่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ไว้ว่า จังหวัดของเรานั้น มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เมตตาให้ความช่วยเหลือในการที่จะสร้างสังคมจิตอาสาในการเอามื้อสามัคคีให้กับครัวเรือนต้นแบบ ได้มีโอกาสในการที่จะใช้เวลาอย่างประหยัด และใช้เวลาให้น้อย เพื่อที่จะทำให้ประสบสำเร็จโดยเร็ว ทันกับฤดูฝน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นไปเป้าหมายที่รัฐบาลนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ที่ได้กรุณาอนุมัติงบประมาณผ่านกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งประเทศกว่า4.7 พันล้านบาท เพื่ออยากให้ครัวเรือนต้นแบบของตำบลและหมู่บ้าน ได้กลายเป็นเสาหลักในการที่จะนำเอาองค์ความรู้ในเรื่องของทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาพช.” ให้กระจายไปเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนบ้าน ให้เห็นถึงการที่เราทำจริง และเห็นจากการเปิดพื้นที่ของเราให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ต่อไป”
นอกจากนั้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้มอบแนวทางการดำเนินงานและกล่าวเป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานว่า “ขอฝากท่านพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานีว่า เราต้องช่วยสนับสนุนครัวเรือนต้นแบบให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์เรียนรู้ เช่น องค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันการนำเสนอและบรรยายในฐานเรียนรู้ เพื่อช่วยให้ครัวเรือนต้นแบบได้มีความรู้ความสามารถในการที่จะเป็นวิทยากรบรรยาย ตั้งแต่ให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยมีป้ายขั้นตอนและการนำเสนอประกอบ สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องที่มาในวันนี้ ได้ช่วยกันดูแลนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่เข้ามาช่วยงานทุกท่าน ให้พาเขาทำงาน เพื่อจะได้มีความรู้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน ขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ คิดหวังสิ่งใด หรือหว่านพืชผลอะไร ก็ขอให้งอกงาม เกิดผลผลิตดีและให้แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอื่นๆ”
ด้าน พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้พบปะและกล่าวกับเจ้าของแปลงและผู้ที่ มาร่วมต้อนรับว่า“โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่“โคก หนอง นา พช.” เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนากองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ ซึ่งทุกท่านที่ผ่านการอบรมและได้รับความรู้ภาคทฤษฎีมาแล้วนั้น จะต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่จากการปรับพื้นที่โครงสร้างพื้นฐาน และหากมีปัญหาก็ต้องปรึกษาหารือร่วมกันและช่วยกันแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินการสร้างฐานเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน ต้องทำให้ฐานเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มาเรียนรู้ทักษะ โดยการฝึกปฏิบัติตามที่ตนเองสนใจ และอยากเรียนรู้ นำไปสู่การดำรงชีวิต ถ้าประชาชนมีความสุขข้าราชการก็มีความสุขด้วย ขอให้ทำให้ดีและสัมฤทธิ์ผล เป็นต้นแบบและขยายผลต่อยอดต่อไป ขอมอบหมายให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(นพค.) ได้ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านและขอให้มีความสุขความเจริญสืบไป” ผู้บัญชาการหน่วยทหารพัฒนา กล่าวด้วยความมุ่งมั่น