พช. ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติฯ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยมีนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางนวินดา สุจินพรหม ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา .13 พัน.3 นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และทีมคณะที่ปรึกษา คณะทำงานคณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการ Coaching ในครั้งนี้มี ศิลปินช่างทอผ้า กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า จาก 20 อำเภอ ของจังหวัดอุดรธานี รวม 50 คน เข้าร่วม กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ 9 ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพ เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยให้ทรงคุณค่า จนเกิดรูปธรรมของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรชาวไทย และต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน ชื่อลายผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯตามพระดำริผ้าไทย ใส่ให้สนุกผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดยร่วมบูรณาการกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย โดยการ Coaching ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการทอผ้า รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ของไทยทั้ง 4 ภูมิภาค และเตรียมความพร้อมในการประกวดผ้าลายพระราชทาน ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่าผ้าไทยใส่ให้สนุกคือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค พร้อมทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลายผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯแก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ และแรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กว่า 50 ปี ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ และรักษาภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหาย และเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยมีความงดงามอยู่ทุกยุคสมัย

จึงเป็นโชคดีของคนไทยที่พวกเรามี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดพระราชปณิธานด้วยการผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จากการที่พระองค์ท่านทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง 2 รอบ เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง กล่าวได้ว่า พระดำริผ้าไทย ใส่ให้สนุกและการออกแบบ พระราชทานลายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯให้แก่ พสกนิกร ชาวไทย เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลาย กล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ในวันนี้ผ้าไทยจึงมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่ของคนทั่วไปที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส และช่างฝีมือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านผ้าไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณหนุนเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่า และรายได้ แม้ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ก็ตาม

กรมการพัฒนาชุมชน มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ มาสู่พี่น้องประชาชนในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ โดยเป้าประสงค์สูงสุดคือการสนองแนวพระดำริ ด้วยวิถีของการการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ อาทิ การต่อยอดให้ช่างทอพัฒนาขยายหน้ากว้างของผ้าที่จากเดิมทำได้เพียง 80 เซนติเมตร – 1 เมตร ให้ขยายได้มากกว่า 1.20 เมตรถึง 1.50 เมตร ทำให้ผ้านำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และสร้างทางเลือก ความต้องการให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ประการต่อมาคือการส่งเสริมให้ใช้สีธรรมชาติ  เลี่ยงกระบวนการใช้สารเคมี เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและในด้านการออกแบบตัดเย็บ ให้ใส่ใจในรายละเอียดความประณีต การเก็บรายละเอียดงานของผ้าทุกด้านทุกมุม ตลอดถึงการเก็บตัวอย่างผ้า กระบวนการ กรรมวิธีอัตราส่วน ด้วยการบันทึก เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้รักษาภูมิปัญญา และการถักทอที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันในทุก ผืน คงไว้ซึ่งจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ ในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการนำทั้งศิลปินช่างทอดั่งเดิมในชุมชน ท้องถิ่น และคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือและเห็นถึงคุณค่าผ้าไทย เข้ามารับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคณาจารย์ วิทยากร ที่การันตีได้ว่ามีความเชี่ยวชาญ เป็นสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ แห่งวงการแฟชั่นไทย และเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระองค์อีกด้วย ขอให้ทุกท่านจงมีความภาคภูมิใจในการร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยให้มีความโดดเด่น งดงามและเก็บเกี่ยวประยุกต์องค์ความรู้ในวันนี้ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าศักยภาพของทุกท่านจะสร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีชีวิตชีวาสืบไป

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่านับเป็นเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทย ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น เมื่อ 21 กรกฎาคม 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป เมื่อมาศึกษาพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะผ้า ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องแต่งกายประดับอาภรณ์เท่านั้น แต่เปรียบเสมือนวัฒนธรรม สายใยแห่งความผูกพัน ความรักพระองค์ท่านที่มีต่อปวงสตรี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์ทรงงานหนัก ศึกษาหาความรู้อย่างมากมาย มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของผ้า เพื่อให้ชีวิตของปวงประชามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย อย่างเป็นประจักษ์ผ่านลายผ้าพระราชทานชื่อลายผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯตามพระดำริผ้าไทย ใส่ให้สนุกในปี2563 ที่ผ่านมา มาจนถึงในปีนี้พวกเรายังได้รับพระเมตตา ในการส่งคณาจารย์วิทยากร ผู้ทรงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น มาเพื่อยกระดับองค์ความรู้ และมาตรฐานคุณภาพการพัฒนาผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนศิลปิน ผู้มีฝีมือด้านผ้า ได้ร่วมกันส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทานร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการผ้าไทย ผ่านผ้าลายพระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564   และในส่วนของประชาชนทั่วไปขอเชิญร่วมอุดหนุนและสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพัฒนาชุมชมและวิถีชีวิตชาวบ้านให้ดำเนินไปได้กับความร่วมสมัยอย่างมีความสุขตลอดจนมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ผ้าไทยทุกผืน เป็นสิ่งที่สามารถเล่าสะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี คุณค่าของผ้าทุกผืนคือการสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ตัวผู้ทอ ในอีกด้านหนึ่งคือการสร้างชีวิต และลมหายใจ ให้ศิลปะหัตกรรมของไทยเรายังคงมีชีวิตชีวาต่อไป

ด้าน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงใช้วิชาและประสบการณ์ที่ได้ไปทอดพระเนตรแฟชั่นจากต่างประเทศ และได้นำวิชาเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คณะทำงาน ให้คณะทำงานได้ทำการCoaching นำกระแสแฟชั่นมาเพื่อให้กลุ่มทอผ้าได้ประยุกต์ไปสู่สากลได้ โดยคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ถือเป็นตัวแทนในการนำพระราชปณิธานในด้านการอนุรักษ์พัฒนาผ้าไทยสู่สากล และพระเมตตาในการช่วยเหลือพสกนิกร ผู้ประกอบการผ้าไทยทุกภูมิภาคให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง โดยนำลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯเป็นตัวตั้งเป็นดังแบบฝึกให้พี่น้องประชาชนช่วยกันพัฒนาฝีมือ และกระตุ้นด้วยกระบวนการ การประกวดที่กำลังจะมาถึง ในระดับภาค ระหว่างวันที่ 7 – 26 มิถุนายน 2564 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการประกวด คือ  การฟื้นฟูและส่งเสริมให้ช่างทอที่มีฝีมือที่มีอยู่ทั่วประเทศ หันกลับมาอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตกรรมไทย ซึ่งการที่คณะได้เข้ามา Coaching ในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คาดหวังว่าการประกวดครั้งนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมราว 3,000 คน โดยการประกวดในระดับประเทศเดือนกรกฎาคม 2564 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินด้วยพระองค์เอง

ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 ให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 10 คน โดยเป็นหนังสือที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประกอบสัมมาอาชีพ และร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย(Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯทั้ง 8 ครั้ง ในจังหวัดสกลนคร มหาสารคามขอนแก่นลำพูน สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี นครราชสีมา และอุดรธานี โดยผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับองค์ความรู้ อาทิ คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์ไทย ฝ้ายพื้นเมือง ,การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย ,การผสมผสานผ้าไทยในคอลเลคชั่น โดยในทุกครั้งได้รับความสนใจจากศิลปินช่างทอผ้าเป็นอย่างดี