ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังพร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ที่กำลังจะสามารถเปิดใช้งานได้ พร้อมให้กำลังแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ที่สามารถเปิดใช้งาน และมีผู้ป่วยเข้ารักษาแล้ว 54 คน และตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของเทศบาลนครตรัง ในการรับแจ้งและติดตามบุคคลที่เดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มิให้ขยายเป็นวงกว้าง
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ณ โรงยิม 1000 ที่นั่ง สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง) อำเภอเมืองตรัง ทั้งนี้จังหวัดตรัง กำหนดจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ณ อาคารโรงยิม 1000 ที่นั่ง สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง) ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของจังหวัดตรัง จำนวน 90 เตียง ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 6 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ภายในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ภายในโรงพยาบาลสนามไว้พร้อมแล้ว จากการตรวจสอบนั้นการดำเนินงานใกล้ที่จะเปิดใช้งานได้แล้ว ในระยะแรกนั้นจะจัดวางเตียง จำนวน 30 เตียงจาก 90 เตียง ก่อน และได้กำชับให้ผู้รับเหมาเร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด
หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เพื่อให้กำลังใจแพทย์และพยาบาล ในการเฝ้าระวัง สังเกตอาการของผู้ป่วยโควิด -19 ที่มาอยู่โรงพยาบาลสนาม จำนวน 54 คน โดยแพทย์ พยาบาลจะเฝ้าดูจากกล้อง cctv ที่ติดตั้งเอาไว้ทั่วบริเวณ และแนะนำผู้ป่วยในการวัดอุณหภูมิของตนเอง ในช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่วนญาติสามารถนำอาหารมาส่งให้ได้ จะมีจุดรับและมีเจ้าหน้าที่นำไปให้กับผู้ป่วย สภาพจิตใจของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม ยังเป็นปกติดี นอกจากนี้ยังได้ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลนครตรังในการรับแจ้งและติดตามบุคคลที่เดินทางเข้าพื้นที่ในเขตเทศบาลนครตรัง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ สำนักงานเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในการระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 จำนวน 197 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564) และจากสถานการณ์ของจังหวัดตรังที่พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งลดจำนวนการเดินทางของประชาชน เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง