วันนี้ (25 เม.ย.61) ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส และข้าราชการ ได้ร่วมกันวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2561 ทั้งนี้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์ และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.2098 ที่พระราชวังจันทร์ เมืองพิษณุโลก มีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือพระองค์ขาว เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 9 ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง 6 ปี เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยราชการพระบิดา โดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงครามอย่างเชี่ยวชาญ ทำให้พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ทั้งที่เมืองพิษณุโลก และกรุงศรีอยุธยา ทรงทำการศึกถึง 15 ครั้ง และได้รับชัยชนะจนเป็นที่เกรงขามของนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามยุทธหัตถีที่พระองค์ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทยจากพม่าได้สำเร็จ และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ นอกจากนี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการปกครอง และการเมืองระหว่างประเทศ การค้าและการพาณิชย์กับต่างประเทศ อีกทั้งยังสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศ
ซึ่งส่งผลให้กรุงศรีอยุธยามีความเป็นมหาอำนาจ ปวงพสกนิกรร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งพระวีรกรรม และพระมหากรุณาธิคุณในรัชสมัยของพระองค์ได้จารึกเกียรติภูมิของชาติไว้อย่างน่าภาคภูมิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษา และทรงครองราชย์สมบัติ 14 ปี