ป.ป.ส.ภาค 7. ประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก เพื่อสร้างการรับรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ นครนายก

วันนี้(8 เม.ย.64)ที่โรงแรมภูสักธาร รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายอำนาจ  เหล่ากอที ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตกเพื่อสร้างการรับรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2564  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2564 พร้อมกล่าวว่า
แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2564 เป็นแผนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหายาเสพติดในสังคม สร้างความปลอดภัยและลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยยึดแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง  ปลายทาง ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 
1 มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ 2 มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย 3 มาตรการการป้องกันยาเสพติด 4 มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด และ 5 มาตรการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ
ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับ 26 หน่วยงาน ส่วนราชการไม่สังกัด
สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ทั้งจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตำรวจ ทหาร และเครือข่ายภาคประชาชน

 

สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปี 2564 มุ่งเน้น
การปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายใหญ่ การตัดวงจรทางการเงิน รวมทั้งการสืบสวนขยายผลเพื่อยึดทรัพย์สิน โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายขยายผลอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท
เน้นการสืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดทุกระดับ ตัดวงจรทางการเงิน ยึดทรัพย์สินกลุ่มการค้ายาเสพติด ไม่ให้นำเงินมาเป็นทุนในการค้ายาเสพติด หรือขยายธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ โดยการบังคับใช้กฎหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักนิติธรรม ใช้พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประมวลรัษฎากร มาบังคับใช้แทนการให้ความสำคัญต่อปริมาณยาเสพติดที่ตรวจจับมาได้เพียงอย่างเดียวโดยจะมีการดำเนินการที่สำคัญใน 3 เรื่องคือ 1) การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านการสืบสวนสอบสวน รวมไปถึงความสามารถของการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการติดตามผู้กระทำความผิด 2) ความพร้อมของเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และ 3) การปรับปรุงกฎระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันและเอื้อต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด รวมทั้งแก้ไขข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการยึดอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด และการตัดวงจรการค้ายาเสพติด 

สำหรับนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญและเป็นกระแสที่มาแรง (Hot Issue) อีกหนึ่งนโยบาย ได้แก่ การปลดล็อคพืชเสพติด กัญชง กัญชา และพืชกระท่อม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์โดยอยู่ในความควบคุม การผลักดันการใช้ประโยชน์จากพืชเสพติดอย่างเป็นระบบ นำองค์ความรู้ที่ถูกต้อง มีมาตรฐานและเหมาะสมมาต่อยอด แสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (ประชาชน เอกชน นักวิชาการ และภาครัฐ ) โดยประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากพืชเสพติดทางด้านมิติสุขภาพ (การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเภสัชวิทยา) เข้าถึงง่ายและปลอดภัย และด้านเศรษฐกิจ (การสร้างรายได้แก่เกษตรกรเป็นพืชเศรษฐกิจ) ตลอดจนสร้างการรับรู้นโยบายยาเสพติดให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการเชื่อมโยงข้อมูผ่านแพลตฟอร์ม และสื่อสาธารณะ ให้ประชาชสามารถค้นหาและเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้สะดวกและรวดเร็ว
 

ทั้งนี้ เครือข่ายสื่อมวลชนทั้งหลาย จะเป็นกลไกสำคัญที่จะอธิบายนโยบายและสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้เห็นภาพการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในนโยบาย และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดหน่วยงานภาครัฐ อันจะส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดตามยุทธศาสตร์ชาติ การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราพี่น้องชาวสื่อมวลชน ได้มาร่วมพบปะ สร้างความเข้าใจนโยบายการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้พี่น้อง สื่อมวลชน เป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กับประชาชนในระดับหมู่บ้านชุมชน  ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลจากโครงการนี้ จะสามารถสร้างช่องทางประสานงานส่งต่อข้อมูล ข่าวสาร ระหว่างพี่น้องสื่อมวลชน และสำนักงาน ปปส.ภาค 7 เกิดการร่วมมือกันเพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานป้องกันปัญหายาเสพติด และเกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันต่อไป