อธิบดี พช จับมือกรมหม่อนไหม สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดงานยิ่งใหญ่ครั้งแรกของประเทศ “มหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศ

วันที่ 20 มีนาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศไทยพร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า คณะกรรมการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯของกรมการพัฒนาชุมชนโดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ไหม และสินค้า OTOP การเดินแบบแฟชั่นผ้าไหม การสาธิตการทอผ้าไทย รวมถึงการเสวนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยสู่สากล และการซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหม  ในการนี้ นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นางวิไลวรรณ  ไกรโสดา นายสุรศักดิ์อักษรกุล  รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมาและพัฒนาการจังหวัดทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม และคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์กลางการซื้อขายเส้นไหมนครชัยบุรินทร์เข้าร่วมพิธี โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหม ที่เข้าร่วมสาธิตและจำหน่ายสินค้า 20 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 55 กลุ่ม/ราย จำแนกเป็นผู้ประกอบการประเภทเส้นไหมจำนวน 7 ราย ประเภทผลิตภัณฑ์ไหม จำนวน 48 กลุ่ม/ราย ระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2564 ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สมาชิกภาคีเครือข่ายในพระบรมราชินูปถัมภ์  พี่น้องชาวพัฒนาชุมชนทุกท่าน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และที่สำคัญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศชาติ อีกทั้งยังพระราชทานลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่มีอาชีพทอผ้าได้ทอมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำศูนย์ซื้อขายเส้นไหมในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงาน ที่แสดงออกถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระพันปีหลวง

ในการช่วยเหลือพี่น้องทุกจังหวัด ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่ม OTOP กลุ่มผู้เลี้ยงไหมปลูกหม่อน เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายผ้าไหม อันจะก่อให้เกิดรายได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความร่วมสมัย สามารถก้าวไปสู่ระดับสากล

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้คัดเลือกศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการมหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในการพัฒนาเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นศูนย์กลางเส้นไหมระดับประเทศตลอดทั้ง เป็นการรณรงค์ให้เกิดค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผ้าไหม และร่วมปลุกกระแสวงการผ้าไหม ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นการสืบสาน รักษาต่อยอด ภูมิปัญญาไหมไทย และภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่คนไทยต่อไป

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ถือว่าเป็นวันสำคัญที่สร้างความยิ่งใหญ่แก่วงการผ้าไทยเป็นอย่างมาก และได้รับเกียรติผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยอย่างมากมายในการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ พวกเราได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไทยที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยไปทุกหนทุกแห่งเพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก ตลอดระยะเวลา 50 ปี พระองค์ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ตลอดระยะเวลาพระองค์ท่านทรงงาน  เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านทรงเสด็จไป บ้านนาหว้า  จังหวัดนครพนม..2513 เพื่อหยิบผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่ถูกลืม ในฝีมือคนไทยที่ถูกลืมไปแล้วจากสังคมไทยให้มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย แสดงให้เห็นถึงการสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัว หลายๆ ครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองก็ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อย่างยั่งยืนผ้าไทย จึงเปรียบเสมือนลมหายใจแม่ของแผ่นดิน  ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาผ้าไทยให้มีความโดดเด่น งดงาม และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ตามที่พระองค์ทรงพระราชทานลายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯเพื่อปลุกกระแสการทอผ้าไทย และจัดประกวด ในช่วงเดือนพฤษภาคม ผ้าที่ชนะเลิศ พระองค์ท่านจะทรงนำไปตัดเป็นฉลองพระองค์และเสด็จเปิดงาน ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมีซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เสมือนสายฝน ที่ช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มสตรี และOTOP ได้มีการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้น ในการขยายตลาดทั่วภูมิภาคต่อไป ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยร่วมกันใส่ผ้าไทยเพื่อแสดงออกถึงความเป็นคนไทย รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไว้ให้ลูกหลานเราสืบไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ช่วยรณรงค์ ให้ทุกท่านสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อย่างน้อยสัปดาห์ละ2 วัน และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีงานแสดงแฟชั่นระดับนานาชาติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงออกแบบ โดยการนำเอาผ้าลายเกล็ดเต่า ทางจังหวัดสกลนคร ให้เกิดลวดลายที่สวยงาม บนชุดที่เป็นสากล ทำให้ชาวต่างชาติทึ่งในความสามารถ สวยโดดเด่นเป็นสง่าบนเวทีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวOTOP  ที่ขอให้นำไปเป็นแรงบันดาลใจได้ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน ผลิตเสื้อผ้า ต่อยอดลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าให้โดดเด่น ทันสมัย เป็นที่นิยม ในระดับโลก โดยเฉพาะในเรื่องของ สีสัน ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเทในการศึกษา ระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคน กำลังสติปัญญา และก็การคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูร้อนปีหน้าจะนิยมสีอะไร ในหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022” เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล และจะเป็นเหมือนธงนำในการขับเคลื่อนและพัฒนาทิศทางกระแสความนิยมของผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อช่วยให้วงจรชีวิตของผ้าไทยมีความสมบูรณ์ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สู่กลางน้ำ ผู้ผลิต ในการถักทอผืนผ้าให้เกิดลวดลายที่ประณีต งดงาม นำไปสู่ ปลายน้ำให้ทุกท่านได้สวมใส่ตามพระราชดำริผ้าไทย ใส่ให้สนุกเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสวมใส่ผ้าไทย ตามพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุกเพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ตลอดทั้งส่งเสริม กระตุ้นการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส เพื่อสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินและขอเชิญเยี่ยมชมการทอผ้า สู่การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ร่วมอุดหนุนของดีผ้าไหมไทย   ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและการตลาดเส้นไหมของชาติเป็นที่นัดพบระหว่างผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้นำเส้นไหมไปจำหน่ายให้พี่น้องOTOP ที่ต้องการใช้เส้นไหมไปทอผ้าในราคายุติธรรม เป็นที่รวบรวมสินค้าผลิตภัณฑ์ไหมของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์(นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้มีความชำนาญในการปลูกไหมเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาผ้าไทยให้งดงาม ร่วมสมัย ยกระดับสู่สากลต่อไป