นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดกิจกรรมเวทีถอดบทเรียนการดำเนินงานการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในสถานประกอบการ พร้อมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทและความร่วมมือภาครัฐกับการยกระดับคุณภาพชีวิตในมิติการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มีความปลอดภัยในการทำงาน ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสังคม”
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชังอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมเวทีถอดบทเรียนการดำเนินงานการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในสถานประกอบการพร้อมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทและความร่วมมือภาครัฐกับการยกระดับคุณภาพชีวิตในมิติการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มีความปลอดภัยในการทำงานลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสังคม” พร้อมด้วยนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยมี นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวรายงาน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและครอบครัว เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพกายใจแข็งแรง ไม่เป็นโรคภัยต่าง ๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีความสุข รวมถึงครอบครัวมีสุข สังคมและประเทศก็จะมีกำลังแรงงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการทำงาน เป็นกำลังสำคัญ ในการสร้างผลิตภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ กระทรวงแรงงานได้ประกาศนโยบาย “เซฟตี้ แอนด์ เฮลตี้ ไทยแลนด์” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เป้าหมายคือพี่น้องผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการในทุกมิติ ทั้งส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และกำกับดูแล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่องตลอดมาและที่สำคัญอย่างยิ่ง
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2563 เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคจากการทำงาน และได้กำหนดสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคและส่งเสริมสุขภาพอีกด้วยและในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ให้มีสุขภาพที่ดี กระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบาย ตามหลักการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้ไข” รวมถึงให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้ พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีหลักประกันที่ดี เหมาะสมในการดำรงชีวิต โดยจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น โครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงมีนโยบายจัดโซนรับรองพิเศษให้บริการพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในโรงพยาบาลของเครือสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลนั้น ได้รับความรู้สึกที่ดีและมีคุณภาพการบริการเทียบเท่ากับสถานพยาบาลของภาคเอกชน
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ในวันนี้ ได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและบูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมที่มีทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน
การเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นโดยโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและพัฒนาสถานประกอบการ (ครพส.) สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2564
ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายประการ ได้แก่ การลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มีความปลอดภัยในการทำงาน
ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้เกิดเป็นนโยบาย “การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานที่เหมาะสมกับแรงงานในสถานประกอบการ”