วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงินงบประมาณ ๔,๗๘๗,๙๑๖,๔๐๐ บาท โดยดำเนินการในพื้นที่ ๗๓ จังหวัด ๕๗๕ อำเภอ๓,๒๔๖ ตำบล ๒๕,๑๗๙ ครัวเรือน กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนา คุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา โมเดล” มาระยะหนึ่ง และได้พบประเด็นปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการฯ ในรายกิจกรรม คือ กิจกรรมที่ ๑ ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล กิจกรรมที่ ๒ สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) ระดับครัวเรือน กิจกรรมที่ ๔ กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) ระดับครัวเรือน กิจกรรมที่ ๕ บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล ซึ่งแต่ละกิจกรรมในโครงการฯเป็นการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนในระดับตำบล/อำเภอ โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายรวมของแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแยกเป็นชื่อรายการ จำนวน (หน่วยนับ) เป็นรายรุ่น รายแปลง รายครัวเรือน รายฐานการเรียนรู้ และเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรงบประมาณในโครงการฯ ให้จังหวัดดำเนินการ โดยแบ่งการจัดสรรเป็นรายรุ่น/รายแปลง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน และแผนการใช้จ่ายเงิน กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ กับกรมบัญชีกลาง ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง ในแต่ละกิจกรรมสามารถดำเนินการเป็นรายรุ่น รายแปลง รายครัวเรือน และรายฐานการเรียนรู้ ตามเหตุผล ความจำเป็นของงานนั้น ๆ ได้หรือไม่ นั้น
กรมบัญชีกลาง ได้ตอบข้อหารือการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่กค (กวจ) ๐๔๐๕.๓/๑๐๕๑๖ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สรุปได้ดังนี้
๑) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๒๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง ในครั้งเดียวกันเพื่อให้วิธีการซื้อหรือจ้างหรืออำนาจในการสั่งซื้อหรือจ้างเปลี่ยนแปลงไป จะกระทำมิได้” และวรรคสอง กำหนดว่า “กรณีใดจะเป็นการแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างให้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อหรือจ้างครั้งนั้นและความคุ้มค่าของทางราชการเป็นสำคัญ” ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าเป็นการแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังนี้ กล่าวคือ มีการแบ่งวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันออกเป็นส่วน ๆ โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นทำให้
(๑) วิธีการซื้อหรือจ้างเปลี่ยนแปลงไป เช่น วงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยการเชิญชวนทั่วไปแล้วไปดำเนินการโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นต้น หรือ
(๒) อำนาจในการซื้อหรือจ้างเปลี่ยนแปลงไป เช่น แบ่งวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างแล้ววิธีการซื้อหรือจ้างในแต่ละครั้ง ยังคงเป็นวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปอยู่ แต่อำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง ในแต่ละครั้ง เปลี่ยนจากผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น มาเป็นของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ การแบ่งวงเงินในการซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งมีผลให้การซื้อหรือจ้างเปลี่ยนแปลงไปนี้ หรือมีผลทำให้อำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป จะต้องพิจารณาในขณะที่เริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มิใช่พิจารณาจากผลของการดำเนินการ
(๓) คำว่า “ในครั้งเดียวกัน” ตามนัยระเบียบฯ ข้อ ๒๐ วรรคหนึ่ง นั้น มุ่งหมายถึงการจัดหาพัสดุที่สมควรจะจัดซื้อหรือจ้างในครั้งเดียว ดังนั้น การได้รับอนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณในครั้งเดียวกัน หากไม่มีเหตุผลประการใดที่ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถดำเนินการในครั้งเดียวกันได้แล้ว หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดซื้อจัดจ้างในครั้งเดียวกัน หากหน่วยงานของรัฐได้แยกการดำเนินการจนมีผลทำให้ วิธีการซื้อหรือจ้างเปลี่ยนแปลงไป หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้จะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบฯ
สำหรับกรณีที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณในการซื้อหรือจ้าง โดยจำแนกเป็นรายการก็ถือว่าเงินงบประมาณของแต่ละรายการแยกออกจากกัน ดังนั้น การดำเนินการซื้อหรือจ้าง ตามระเบียบฯ จึงสามารถดำเนินการได้ในลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ คือ ๑. ดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นรายครั้ง ๆ ละรายการ หรือ ๒. ดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นรายครั้ง ๆ ละกลุ่ม หรือ ๓. ดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นรายครั้ง ๆ ละหลายกลุ่ม หรือ ๔. ดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างรวมกันในครั้งเดียว
การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ถือเป็นการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ในระดับตำบล/อำเภอ โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายรวมของแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแยกเป็นชื่อรายการ จำนวน (หน่วยนับ) เป็นรายรุ่น รายแปลง รายครัวเรือน รายฐาน และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น และชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยมีการจัดสรรงบประมาณโครงการฯ ให้จังหวัดดำเนินการ แบ่งการจัดสรรเป็นรายรุ่น/รายแปลง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน และแผนการใช้จ่ายเงิน ประกอบกับห้วงระยะเวลาดำเนินงาน สภาพแปลงพื้นที่แตกต่างกัน และต่างพื้นที่ดังนั้น กรณีนี้กรมการพัฒนาชุมชนย่อมสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายรุ่น รายแปลง รายครัวเรือน รายฐานการเรียนรู้ และสามารถนำแนวทางการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาพิจารณาประกอบการดำเนินการได้ โดยพิจารณาเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามนัยมาตรา ๕๕ และมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) ให้ทราบและถือปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯ กำหนด ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ขอให้ใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป